posttoday

แบงก์อุ้มเอสเอ็มอีสู้ค่าเงิน

22 กรกฎาคม 2560

สมาคมธนาคารไทยประชุมวันเว้นวัน หาทางออกแพ็กเกจ การป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้เอสเอ็มอี คู่กับยกระดับประสิทธิภาพ

สมาคมธนาคารไทยประชุมวันเว้นวัน หาทางออกแพ็กเกจ การป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้เอสเอ็มอี คู่กับยกระดับประสิทธิภาพ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สมาชิกสมาคมธนาคารไทยได้รับทราบแนวทางจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้หาแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบรายได้ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้มีการประชุมสมาชิกธนาคารหารืออย่างเร่งด่วนแบบวันเว้นวัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งแนวทางช่วยเหลือไม่ใช่เฉพาะเรื่องลดค่าธรรมเนียมการป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายเห็นว่า ควรออกเป็นแพ็กเกจความช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)

นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย เพราะการให้เงินหรือลดค่าธรรมเนียมไม่ใช่วิธีการช่วยเอสเอ็มอีที่ยั่งยืน ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ให้คำแนะนำการทำธุรกิจ การตลาด ไปถึงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์

"การช่วยเหลือหรือสนับสนุนเอส เอ็มอี ต้องทำให้เป็นระบบ เพื่อให้เอส เอ็มอีของประเทศแข็งแรง แข่งขันได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เอสเอ็มอีเองต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำธุรกิจแบบใหม่ แต่หากรู้ตัวว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไปต่อไม่ได้ ก็จะให้ความรู้ในธุรกิจประเภทอื่นที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต" นายผยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเจรจากับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี

ส่วนสถาบันการเงินของรัฐก็ได้รับโจทย์ให้คิดหามาตรการช่วยเหลือเอส เอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงิน ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริม โดยเอ็กซิม แบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์จะให้วงเงิน สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ส่วน บสย.จะค้ำประกันกรณีลูกค้าไม่มีหลักประกัน