posttoday

ธนารักษ์ศึกษารับมืออนาคตลดใช้เงินสด

17 กรกฎาคม 2560

คลังสั่งธนารักษ์ศึกษาเรื่องสังคมยุคไร้ธนบัตร คาดคนลดการใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

คลังสั่งธนารักษ์ศึกษาเรื่องสังคมยุคไร้ธนบัตร คาดคนลดการใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์ตั้งคณะศึกษาเรื่องแนวโน้มการใช้เหรียญกษาปณ์ในอนาคตหลังรัฐบาลสนับสนุนนโยบายให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้น และกลายเป็นสังคมไร้ธนบัตร ซึ่งอาจทำให้ความต้องการใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง โดยให้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความรู้มาร่วมศึกษาเรื่องนี้

รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า การใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบมีแนวโน้มลดลงจากปัจจุบันซึ่งมีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนประมาณ 29.6 ล้านเหรียญ แยกเป็นเหรียญ 10 บาท จำนวน 1.96 ล้านเหรียญ เหรียญ 5 บาท จำนวนกว่า 3.47 ล้านเหรียญ เหรียญ2 บาท จำนวนกว่า 1.95 ล้านเหรียญ และเหรียญ 1 บาท มีจำนวนมากที่สุดกว่า 16.1 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นเหรียญ 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์

ทั้งนี้ ผลจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้น โดยคาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า พฤติกรรมการใช้เหรียญกษาปณ์จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะคนจะใช้บัตรพลาสติก หรือมีการโอนเงินทางบัญชีออนไลน์ในการรูดซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมธนารักษ์จึงกำลังศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระบบอี-เพย์เมนต์

นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรีผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปัจจุบันปริมาณธนบัตรหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ได้ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ และผลจากอี-เพย์เมนต์ อาทิ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลต) พร้อมเพย์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ฯลฯ ก็ยังไม่ชัดเจน ถึงขั้นต้องลดปริมาณการผลิตธนบัตรหมุนเวียนออกใช้ หรือเตรียมการจะปิดโรงพิมพ์ธนบัตรตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด

สำหรับรายงานข้อมูลปริมาณธนบัตรหมุนเวียน 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าลดลง 3.31 หมื่นล้านบาท หรือ 2.12% จาก 1.56 ล้านล้านบาท เหลือ 1.53 ล้านล้านบาท เป็นการลดลงตามฤดูกาล ที่ความต้องการใช้ธนบัตรจะมากในช่วงต้นปีที่มีเทศกาลต่างๆ