posttoday

"สมคิด"สั่งลุยค้ำสินเชื่อรายย่อย

13 กรกฎาคม 2560

"สมคิด" สั่ง บสย.เร่งค้ำประกันเอสเอ็มอี เหลือวงเงินกว่า 8 หมื่นล้าน แบงก์เสนอเพิ่มสัดส่วนรับความเสี่ยง

 "สมคิด" สั่ง บสย.เร่งค้ำประกันเอสเอ็มอี เหลือวงเงินกว่า 8 หมื่นล้าน แบงก์เสนอเพิ่มสัดส่วนรับความเสี่ยง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยให้ บสย.ที่มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท ใช้ไป 1.67 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินอีก 8.33 หมื่นล้านบาท ต้องหาทางใช้วงเงินที่เหลือภายในปี 2560

ทั้งนี้ ให้ บสย.หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการขยายการค้ำประกันให้กับธนาคารต่างๆ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการรับความเสี่ยงจาก 23.75 เป็น 30%

นอกจากนี้ ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขยายตลาดส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันการส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่กว่า 100 บริษัทเท่านั้น และให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น และการผลักดันส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมผลักดันศูนย์ภาคอุตสาหกรรม 11 แห่งทั่วประเทศ ปรับให้เป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งสร้างเป็นโรงงานต้นแบบในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบที่ศูนย์ภาคอุตสาหกรรม ใน จ.อุบลราชธานีเป็นแห่งแรก

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยต้องการให้บสย.รับความเสี่ยงจากสถาบันการเงินจาก 23.75% ของวงเงินสินเชื่อ เป็น 30% พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก และจัดโควตาพอร์ตการค้ำประกันให้แต่ละธนาคารเพื่อปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โดย บสย.จะหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และกระทรวงการคลังในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ได้ข้อสรุป หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ก.ค.นี้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ต้องการเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งด้านวงเงิน การบริหารความเสี่ยง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเรื่องเครดิตบูโร รวมถึงหลักประกันที่ในบางประเด็นยังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ต้องมีการหารือร่วมกันต่อไป