posttoday

ไอแบงก์โล่งโอนหนี้สำเร็จ

11 กรกฎาคม 2560

ไอแบงก์ โชว์สถานะเป็นแบงก์ดี หลังโอนหนี้เอ็นพีเอฟ 5 หมื่นล้าน ให้ IAM แล้ว ล่าสุดมีนักลงทุนรุมจีบขอเป็นพันธมิตรใหม่

ไอแบงก์ โชว์สถานะเป็นแบงก์ดี หลังโอนหนี้เอ็นพีเอฟ 5 หมื่นล้าน ให้ IAM แล้ว ล่าสุดมีนักลงทุนรุมจีบขอเป็นพันธมิตรใหม่

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีเอฟ ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ IAM จำนวน 5 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้และได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินมาในวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ส่งผลให้สถานะของไอแบงก์ขณะเป็นธนาคารที่ยอดสินเชื่อคงค้าง 4.3-4.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อเป็นพันธมิตรมาร่วมทุนกับธนาคารหลายราย ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องระยะเวลาที่กระทรวงการคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทเข้ามาในช่วงไหน เนื่องจากขณะนี้ธนาคารได้ทำเรื่องการโอนหนี้เอ็นพีเอฟเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่เงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาช่วยให้เงินกองทุนไม่ติดลบ

สำหรับเป้าหมายในการหาพันธมิตรจะพิจารณาจาก 3 เรื่อง คือ เรื่องเงินทุนในการเข้ามาซื้อหุ้น แผนบริหารแบงก์ในอนาคต และแผนการฟื้นกิจการของธนาคารในระยะสั้นของธนาคาร

“หนี้เอ็นพีเอฟราว 5 หมื่นล้านบาท มีการตั้งสำรองไว้แล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท จึงเหลือส่วนที่บุ๊กแวลูอีก 2.2 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าสถานะไอแบงก์นี้คือ กู๊ดแบงก์ มีสินเชื่อคงค้าง 4.3-4.4 หมื่นล้านบาท ส่วน IAM ตอนนี้ยังมีแต่คณะกรรมการ ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหา เอ็มดี และเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาติดตามทวงหนี้โดยเร็ว” นายชัยวัฒน์ กล่าว

แหล่งข่าวในวงการเงินการธนาคาร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนในประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องการควบรวมกิจการ และนักลงทุนสถาบัน ที่มาจากธนาคารในประเทศกลุ่มมุสลิมให้ความสนใจเข้ามาขอข้อมูลทางการเงิน เชื่อว่าการเข้ามาซื้อหุ้นในไอแบงก์ จะมีโอกาสที่ดีกว่าการขอไลเซนส์ในการทำธนาคารใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้มีการโอนเอ็นพีเอฟแล้ว แต่ไอแบงก์มีหนี้เอ็นพีเอฟในส่วนที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ 3,000 ล้านบาท กับหนี้ในกลุ่มของมุสลิม 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้ขณะนี้มียอดหนี้เอ็นพีเอฟราว 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13-15% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

สำหรับเงินเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ที่จะทยอยอนุมัติให้ั