posttoday

ไทยแชมป์หนี้ครัวเรือนสูงอันดับ 3 ของเอเชีย

26 มิถุนายน 2560

สถาบันฯป๋วยชี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เผยคนเลยวัยเกษียณหนี้ยังสูง แถมวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เสียสูง 1 ใน 5

สถาบันฯป๋วยชี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เผยคนเลยวัยเกษียณหนี้ยังสูง แถมวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เสียสูง 1 ใน 5

นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ น.ส.อัจนา ล่ำซำ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันรายงานผลการวิจัย เรื่อง”มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่านบิ๊กเดต้า (Big Data) ของเครดิตบูโร” ว่า หากวัดสัดส่วนหนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในภาพรวมของไทย ตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ณ ไตรมาส 3 ปี 2559พบว่า ไทยมีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 71.2% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากออสเตรเลียอันดับ 1 อยู่ที่ 123% และเกาหลีใต้อันดับ 2 อยู่ที่ 91.6% และยังสูงในระดับต้นๆของโลก

"1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด 69 ล้านคนเป็นหนี้ในระบบ โดยมีค่าเฉลี่ยหนี้ต่อคนอยู่ที่ 1.5 แสนบาท ซึ่งในจำนวนนี้ไม่รวมหนี้เพื่อการศึกษา หนี้จากสหกรณ์ และหนี้นอกระบบอีก ซึ่งจำนวนคนมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆมาตั้งแต่ปี 2552 และมีปริมาณหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย 1 ใน 2 หรือ 50% ของคนเริ่มทำงานจะเป็นหนี้ ประเด็นคืออายุมากเลยวัยเกษียณ 60-80 ปีแล้วหนี้ก็ยังไม่ลดลง โดยส่วนใหญ่คนจะเป็นหนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น"รายงานวิจัยระบุ

ทั้งนี้ สัดส่วนการเป็นหนี้คนคนไทยในสินเชื่อส่วนบุคคลสูงที่สุด 17%, สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต 9% และสินเชื่อบ้าน 4%

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า กลุ่มคนอายุน้อยที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงที่สุด โดย 1 ใน 5 ของผู้กู้ 19.3 ล้านคน ที่อายุ 29 ปีมีหนี้เสีย สิ่งที่น่ากังวลในเชิงนโยบายคือ การที่คนอายุน้อยในวัยเริ่มทำงานซึ่งรายได้ไม่สูงนักกลับเป็นหนี้เสียสูงถึง 1 ใน 5 นั้นอาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ เพราะความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตจะลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบและพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น

หากคนกลุ่มในวันทำงานเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้เสียเร็วโดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคล  จะทำให้ในอนาคตจะกู้สินเชื่อประเภทอื่น เช่น บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ยากขึ้นเพราะเครดิตเสียไปแล้วจะกู้ยาก มีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศที่จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การทำนโยบายจึงควรเน้นปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินมากขึ้น