posttoday

แบงก์หนุน ธปท. เร่งศึกษา "บิตคอยน์"

15 มิถุนายน 2560

ผู้ใช้จริงต้องมีความรู้อย่างดีว่ามันจะมีความเสี่ยงใดเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งในคนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องแบบนี้ไม่มากนัก

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) เรียกง่ายๆ ว่า เงินดิจิทัลที่รวมถึง บิตคอยน์ เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่ใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังจะนำมาใช้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศก่อนหน้านี้ว่า บิตคอยน์ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย โดยบิตคอยน์และเงินดิจิทัลอื่นๆ มีสถานะเป็นเพียง “หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” ได้สั่งการให้ ธปท.ไปศึกษาความเป็นไปได้ของนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น บิตคอยน์ ว่าไทยควรมีหรือไม่ ซึ่งต้องดูเรื่องความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวง

ขณะที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การศึกษาเรื่อง บิตคอยน์ มาใช้ในไทยต้องศึกษาข้อดีข้อเสียจากประเทศที่ใช้และไม่ใช้เงินดิจิทัล ซึ่งจะต้องศึกษาถึงการควบคุมปริมาณการนำมาใช้และการป้องกันการหลอกลวงถือเป็นเรื่องใหม่ในไทยที่ต้องพิจารณารายละเอียดให้ชัดเจน

ด้าน วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) กล่าวถึงการยอมรับคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) กระทั่งมีธนาคารกลางของประเทศใหญ่หลายแห่งเตรียมตัวรับมือเรื่องนี้ ว่า ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามดู เพราะต้องดูหลายมิติ

“ธปท.ไม่ได้ปิดกั้น แต่กฎหมายเราก็ไม่ได้รองรับการนำเงินเหล่านี้มาชำระหนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินคริปโตเคอเรนซี่อย่างบิตคอยน์ปรับขึ้นลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา การที่สกุลเงินผันผวนแรง ผู้ใช้จริงต้องมีความรู้อย่างดีว่ามันจะมีความเสี่ยงใดเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งในคนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องแบบนี้ไม่มากนัก” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันคริปโตเคอเรนซี่ไม่มีหน่วยงานกำกับที่ชัดเจน ไม่มีที่ใดในโลกที่มีหน่วยงานกำกับ แต่มีบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่ยอมรับให้การทำธุรกรรมของเงินบิตคอยน์ถูกรับรองตามกฎหมาย เพราะญี่ปุ่นมีสภาวะแวดล้อม มีตลาด มีแหล่งแลกเปลี่ยนเงินบิตคอยน์หลายแหล่ง ทำให้รองรับการใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเทศไทยมีความแตกต่าง และไม่มีใครมาช่วยดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เงินสกุลดิจิทัลเหล่านี้

“ปัจจุบันการทำธุรกรรมด้วยบิตคอยน์ ธปท.ไม่ได้รับรองว่าถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เหมือนเงินบาทที่ ธปท.รับรองว่าถูกต้องชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ห้าม หากจะมีการทดลองใช้” วิรไท กล่าว

ด้าน อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ในเครือธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ถึงอย่างไรไทยก็ต้องเปิดให้มีการใช้คริปโตเคอเรนซี่ที่เป็นแนวโน้มของทั่วโลก ทุกประเทศเตรียมตัวรับมือแล้ว สะท้อนว่าภาครัฐให้ความสำคัญในการเตรียมตัวเรื่องนี้ ธปท.เองก็ไม่ได้ห้าม และสนับสนุนให้มีพื้นที่ในการทดสอบบริการการเงินดิจิทัลใหม่ๆ ในแซนด์บล็อกด้วย

“เพียงแต่มันต้องเร่งให้เร็ว เพราะเทคโนโลยีมันเร็วและต้องหาวิธีส่งเสริม ทั้งธนาคารพาณิชย์และลูกค้าธนาคารให้มีโอกาสได้ทดลองใช้อย่างรวดเร็ว เพราะการใช้เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้ทำจริง ไม่ใช่แค่การอ่าน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนได้ใช้ จะผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร” อรพงศ์ ระบุ

ขณะที่ ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีใหม่จากบล็อกเชนที่น่าสนใจ เริ่มมีการทดลองใช้บ้างแล้ว เช่น บิตคอยน์ แต่ก็มีความท้าทายในเรื่องการกำกับดูแล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับได้

สำหรับธนาคารกรุงเทพมองสกุลเงินดิจิทัลด้วยความระมัดระวัง แต่ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจพัฒนาการที่เกิดขึ้น ว่าคนภายนอกเห็นจุดอ่อนอะไร การเข้ามากำกับดูแลต้องรวมไปทั้งการเก็งกำไรและดูแลผู้ลงทุนอย่างไรด้วย

ภาพ...เอเอฟพี