posttoday

2แบงก์ใหญ่ลุยเพิ่มสาขา เผยลูกค้ายังต้องการใช้บริการ

14 มิถุนายน 2560

แบงก์กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์ลุยเปิดสาขาเพิ่ม ชี้ลูกค้ายังต้องการสาขาอยู่แม้ดิจิทัลแบงก์จะมาแรง

แบงก์กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์ลุยเปิดสาขาเพิ่ม ชี้ลูกค้ายังต้องการสาขาอยู่แม้ดิจิทัลแบงก์จะมาแรง

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารยังมีแผนเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 20 แห่ง แม้ว่าทิศทางการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตก้าวกระโดด แต่ในปัจจุบันสาขาธนาคารก็ยังมีความสำคัญต่อการให้บริการลูกค้า โดยธนาคารจะเน้นเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าและเมืองใหม่เป็นหลัก เพราะเล็งเห็นว่าลูกค้าหลายกลุ่มและหลายพื้นที่ยังต้องการใช้บริการสาขาอยู่ อีกทั้งการขยายตัวของสังคมเมืองทำให้มีความต้องการใช้บริการสาขาเพิ่มอีก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขานั้น ธนาคารกำลังพิจารณาอยู่เช่นกันว่าสาขาในแต่พื้นที่ควรต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่นั้นหรือไม่ รวมทั้งบางสาขาที่ตั้งอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น สาขาใกล้นิคมอุตสาหกรรม เคยเน้นธุรกิจแต่นิคมย้ายไปและในพื้นที่เปลี่ยนเป็นชุมชน ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักเป็นรายย่อยแทน น่าจะต้องปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า ส่วนบางสาขาลูกค้าชอบทำธุรกรรมด้วยตัวเอง ก็จะพิจารณาเพิ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารได้เปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 7 แห่ง ตามแผนงานและการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีสาขาในประเทศ 1,164 แห่ง จาก 1,157 แห่ง เมื่อสิ้นปี 2559 เป็นไปตามกลยุทธ์ธนาคารยังคงเห็นว่าสาขามีความจำเป็นต้องคงไว้ แม้ทิศทางโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเริ่มทยอยปรับลดสาขาลงก็ตาม

นอกจากนี้ บริการทางการเงินหลายประเภทก็ต้องอาศัยพนักงานเป็นผู้ให้บริการ เช่น การขายและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การให้คำปรึกษาวางแผนทางการเงิน รวมไปถึงการให้บริการสินเชื่อทุกประเภท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะซับซ้อนกว่าธุรกรรมพื้นฐานทั่วไป ลูกค้าต้องการสอบถามและได้รับคำแนะนำจากพนักงานตรง โดยเฉพาะลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด สาขาจึงมีความจำเป็นในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคลและผู้บริหารสูงสุดเครือข่ายสาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปฏิวัติการให้บริการสาขา โดยเน้นขยายเครือข่ายที่ครอบคลุมให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายทุกที่ทุกเวลา ทั้งช่องทางสาขาและช่องทางดิจิทัล

ทั้งนี้ รูปแบบหรือโมเดลใหม่ที่เรียกว่าจุดบริการ หรือ ทัชพอยต์ (Touch Point) เป็นลักษณะเอาต์เล็ตให้บริการธุรกรรมได้เหมือนสาขาทั่วไป มีพนักงานบริการเพียง 2-3 คน ผสมผสานกับเครื่องอัตโนมัติ เช่น เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงิน เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าได้มากขึ้น