posttoday

ออมสินดันสินเชื่อชี้5เดือนทะลุเป้า

10 มิถุนายน 2560

ออมสินชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดันสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่ม 6-7 หมื่นล้าน คาดทั้งปีโตแตะ 1 แสนล้าน

ออมสินชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดันสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่ม 6-7 หมื่นล้าน คาดทั้งปีโตแตะ 1 แสนล้าน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงผลดำเนินงาน 5 เดือนแรกปีนี้ว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 6-7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวถึง 3% เกินกว่าเป้าหมายทั้งปี และเชื่อว่าทั้งปียอดสินเชื่อใหม่จะขยายตัวได้ 5% หรือเป็นวงเงินสินเชื่อใหม่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนและผู้ประกอบการจึงต้องการแหล่งทุนในการจับจ่ายใช้สอยและทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี จะให้มีสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่เกิน 10% ของพอร์ตทั้งหมด เพื่อเน้นดูแลรายย่อยให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ธนาคารประชาชน สินเชื่อบ้าน ที่เหลือจะเป็นการปล่อยสินเชื่อในโครงการภาครัฐ

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ได้ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล เพื่อยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท 64 คน ร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ โอท็อป 6 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้วางแผนและแก้ปัญหา จึงพร้อมขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมนักศึกษาเป็นเจ้าของกิจการช่วยพัฒนาชุมชนของตนเอง และเติมแหล่งทุนให้กับคนรุ่นใหม่หัวคิดทันสมัย โดยธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อ 10 ล้านบาท/ราย คิดดอกเบี้ย 3.99% ช่วง 2 ปีแรก เน้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เริ่มกิจการ 3 ปีแรก

สำหรับกลุ่มโอท็อป-วิสาหกิจชุมชนที่ธนาคารคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม กลุ่มอาชีพแปรรูปข้าวสาร และกลุ่มหัตถกรรมชุมชนตำบลพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กลุ่มแม่บ้านบ้านท่ากระดาน และกลุ่มขนมบ้านทุ่งนา อ.ศรีสวัสดิ์ และพร้อมพัฒนาความรู้ไปยังชุมชนอื่นเพิ่ม

นายพิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากนำนักศึกษาเข้าไปเติมความรู้ให้กับชุมชน ทั้งการบรรจุภัณฑ์ การพัฒนากระบวนการผลิต การทำแผนการเงิน การจัดทำบัญชี วางแผนการตลาด เมื่อทดลองตลอดช่วง 5 เดือน บางกลุ่มสร้างรายได้เพิ่มกว่า 340% ทำให้รู้จักคำนวณต้นทุน การตั้งราคาสินค้าที่เป็นธรรมและสร้างรายได้สูงขึ้น เมื่อนักศึกษาสัมผัสการผลิตจริง จึงเกิดประสบการณ์ความรู้สามารถปรับไปสู่การตั้งกิจการด้วยตนเองได้ เพื่อนำความรู้ด้านนวัตกรรมปรับใช้กับชุมชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0