posttoday

กนง.สั่งจับตาเงินทุนระยะสั้น

07 มิถุนายน 2560

กนง.เปิดเผยรายงานการประชุมย้ำเศรษฐกิจไทยแนวโน้มฟื้นตัวได้ แต่ห่วงปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ สั่งจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น หวั่นกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

กนง.เปิดเผยรายงานการประชุมย้ำเศรษฐกิจไทยแนวโน้มฟื้นตัวได้ แต่ห่วงปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ สั่งจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น หวั่นกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

วันที่ 7 มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ออกรายงานการประชุม (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2560 ที่ประชุมไปเมื่อ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดี แต่ในระยะต่อไป ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งนโยบายปฏิรูปภาษี เพื่อจูงใจให้บริษัทนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้มาก โดยกนง.ประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับมุมมองของตลาด

สำหรับภาวะตลาดการเงิน กนง.เห็นว่า ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกโดยรวมปรับดีขึ้น ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในยุโรปที่คลี่คลายลง ประกอบกับในระยะสั้นนักลงทุนยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีมากนัก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (safe-haven assets) ทั้งราคาทองคำและสินทรัพย์สกุลเงินเยนปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ช่วงกลางเดือนพ.ค.นักลงทุนเริ่มกังวลต่อประเด็นปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดปรับลดการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง และคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (G3) ที่มีแนวโน้มแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร(บอนด์)และตลาดหลักทรัพย์(หุ้น)ในประเทศภูมิภาค รวมถึงไทย แต่เงินทุนไหลเข้าไทยน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

ด้านเงินบาทเทียบเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่ามากกว่าสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค จากการเร่งซื้อเงินเหรียญสหรัฐของกลุ่มบริษัททองคำในประเทศในช่วงที่ราคาทองปรับลดลง และมีการส่งกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติที่อยู่ในไทยกลับ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) จึงอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรภาครัฐระยะสั้นปรับลดลงจากการลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.95 -34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าจากต้นปีประมาณ 5 % เคลื่อนไหวอยู่ระดับกลางๆเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในภูมิภาค

“ในระยะต่อไป เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีความผันผวน ตามปัจจัยด้านต่างประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ รวมทั้งการคาดการณ์ของตลาดถึงจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กนง.จึงให้ติดตามกระแสเงินทุนระยะสั้น โดยเฉพาะที่เข้ามาลงทุนในบอนด์สั้นอย่างใกล้ชิด” รายงานกนง.ระบุ

นอกจากนี้ ในการประชุมกนง.ยังได้มองถึงศักยภาพการเติบโตของไทยที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับอดีตจากหลายปัจจัยสำคัญ อาทิ (1) ปริมาณแรงงานที่ปรับลดลงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (2) ความไม่สอดคล้องระหว่างกำลังซื้อ(อุปสงค์)และปริมาณการผลิต(อุปทาน)ในส่วนของทักษะและประสบการณ์ของแรงงาน (skill mismatch) ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มตามศักยภาพ และ (3) ผลิตภาพการผลิตโดยรวมที่เติบโตช้าลงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่ใช้ทุนน้อยกว่าและมีผลิตภาพน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ แต่ในระยะข้างหน้า หากภาครัฐสามารถดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) ได้ตามแผน คาดว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาโตสูงขึ้นได้

ขณะเดียวกัน กนง.บางส่วนก็เห็นว่า ในการประเมินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึง ผลของระบบอัตโนมัติ( automation) การลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้การประเมินศักยภาพการเติบโตของไทยเป็นไปอย่างรอบด้านและครบถ้วนมากขึ้น เนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อปิดช่องว่างการผลิต (output gap) และนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ กนง.มีกรรมการ 7 คน ซึ่งในการประชุมได้เข้าประชุมครบทั้งหมดประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. (ประธาน) ,นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. (รองประธาน) ,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ธปท. กรรมการ รวมทั้ง นายจำลอง อติกุล ,นายปรเมธี วิมลศิริ ,นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก