posttoday

กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยลงร้อยละ 0.50 ต่อปี

15 พฤษภาคม 2560

ธนาคารกรุงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยลงร้อยละ 0.50 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 7.12 มีผล 16 พ.ค.นี้ พร้อมออกโครงการกรุงไทยช่วย SME4.0วงเงิน 6,000 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยลงร้อยละ 0.50 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 7.12 มีผล 16 พ.ค.นี้ พร้อมออกโครงการกรุงไทยช่วย SME4.0วงเงิน 6,000 ล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีการขยายตัว ดังนั้นเพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ธนาคารจึงได้ลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ลงร้อยละ 0.50 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 7.12 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป รวมทั้งออกโครงการกรุงไทยช่วย SME 4.0 สำหรับลูกค้า SME ทุกกลุ่ม ภายใต้วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท

โครงการกรุงไทยช่วย SME 4.0 แบ่งการดูแลลูกค้า SME เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้า SME ที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 แพ็คเกจ ได้แก่ กรณีลูกค้ามีหลักประกัน คิดดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เริ่มต้นที่อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ลูกค้าที่ใช้บสย.ค้ำประกัน ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เริ่มต้นที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ส่วนสินเชื่อขายลดลูกหนี้การค้าหรือ Factoring ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 4 ต่อปีเช่นกัน ให้กู้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี วงเงินกู้รวม 4,000 ล้านบาท

สำหรับลูกค้า SME ขนาดเล็ก ที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 20 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ในอัตราเริ่มต้นที่ร้อยละ 4 ต่อปี ทั้งลูกค้าที่มีหลักประกัน หรือมีหลักประกันและใช้บสย.ค้ำประกัน ให้กู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี วงเงินกู้รวม 2,000 ล้านบาท

นายผยง กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยและออกมาตรการช่วยเหลือ SME 4.0 ในครั้งนี้ ธนาคารต้องการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อย ด้วยการลดต้นทุนทางการเงินให้กับธุรกิจรายย่อยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้นจากต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง