posttoday

แบงก์ยันกำไรดอกเบี้ยไม่สูง

15 พฤษภาคม 2560

แบงก์แจงส่วนต่างดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีแตกต่างกันไม่มาก ยันใกล้เคียงอาเซียน แต่เอ็นพีแอลนำโด่ง

แบงก์แจงส่วนต่างดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีแตกต่างกันไม่มาก ยันใกล้เคียงอาเซียน แต่เอ็นพีแอลนำโด่ง

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการคิดดอกเบี้ยลูกค้าเอสเอ็มอีในระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าแต่ละธนาคารมีหลักการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ซึ่งอาจแยกออกเป็น 3 ระดับกว้างๆ คือ เอสเอ็มอีหน้าใหม่ที่ไม่มีหลักประกัน จะถูกคิดดอกเบี้ยสูงที่สุดเฉลี่ย 15% ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 10-12% และเอสเอ็มอีที่ธนาคารรู้จักการทำธุรกิจลูกค้าเป็นอย่างดี จะคิดดอกเบี้ยต่ำลง อาจจะเหลือตัวเลขหลักเดียว

น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ภาพใหญ่อาจเห็นว่าดอกเบี้ยเอสเอ็มอีสูงกว่าดอกเบี้ยธุรกิจรายใหญ่มาก แต่เมื่อนำมาเฉลี่ยรวมกัน ดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับจริงระหว่างพอร์ตลูกค้าทั้ง 2 ประเภท แตกต่างกันไม่มาก โดยดอกเบี้ยที่แท้จริงของลูกค้ารายใหญ่อยู่ที่ 3-5% ส่วนเอสเอ็มอีอยู่ที่ 6-8% นั่นเพราะลูกค้าแต่ละรายได้อัตราดอกเบี้ยต่างกัน ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ที่พูดถึงดอกเบี้ยติดลบนั่นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

“ส่วนต่างดอกเบี้ยรับและจ่ายสุทธิ (นิม) และผลตอบแทนสินทรัพย์ (อาร์โอเอ) ธนาคารพาณิชย์ไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านไม่แตกต่างกันมาก โดยนิมของธนาคารไทยอยู่ที่ 2.7% อาร์โอเอ 1.1% ฟิลิปปินส์ นิม 3% อาร์โอเอ 1.2% มาเลเซีย นิม 2.2% อาร์โอเอ 1.2% และสิงคโปร์ นิม 1.7% อาร์โอเอ 1%” น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้นิมจะไม่แตกต่างกันมาก แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งจะฟื้นตัว และฟื้นตัวแบบไม่กระจาย ทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอียังเพิ่มไม่หยุด ดังนั้นการสำรองหนี้ของธนาคารไทยก็มีสัดส่วนที่สูงกว่าด้วย

ทั้งนี้ เอ็นพีแอลของไทยอยู่ที่ 2.8% ของสินเชื่อคงค้างธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยรวม 12 ล้านล้านบาท ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ที่ 1.4% มาเลเซีย 16% และสิงคโปร์ 1.5%