posttoday

เสี่ยงละเมิดสิทธิ เปิดล้วงข้อมูลเครดิต

24 เมษายน 2560

เจ้าของข้อมูลอาจไม่สบายใจว่าแบบจำลองเครดิตคืออะไร จะมีการนำไปใช้เพื่ออะไรต่อ เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องต่อไปได้

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่การบังคับใช้ประกาศของคณะกรรมการ (บอร์ด) คุ้มครองข้อมูลเครดิต ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ซึ่ง วิรไท สันติประภพผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานบอร์ดคุ้มครองข้อมูลเครดิตเป็นผู้ลงนาม โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 21 เม.ย. 2560 ประกาศดังกล่าวประกอบด้วย

1.ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทําและการใช้แบบจําลองด้านเครดิต ซึ่งมีการกำหนดวิธีการจัดทำแบบจำลองการให้คะแนนของธนาคาร (Bank Score Model) ว่าต้องดำเนินการให้มีมาตรฐานสากล มีความน่าเชื่อถือของข้อมูล และมีการทดสอบความน่าเชื่อถือของแบบจําลองอย่างน้อยปีละครั้ง

2.ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต สาระสำคัญ คือ เพื่อให้สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ (นันแบงก์) สามารถนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมาก (บิ๊กดาต้า) ในเครดิตบูโรไปวิเคราะห์วิจัยหรือจัดทำแบบจำลองด้านสินเชื่อได้โดยอัตโนมัติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ลูกค้าได้ลงนามหรือเซ็นยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการขอสินเชื่อและการขอทำบัตรเครดิตเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อการคุ้มครองเจ้าของข้อมูล ประกาศได้ให้นำข้อมูลไปแบบไม่สามารถระบุตัวตนได้ คือ ต้องตัดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ออกก่อน เพื่อป้องกันการเข้าถึงเจ้าของข้อมูล แล้วนำไปหาประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ขายประกัน หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น

สำหรับแบบจำลองเครดิต คือการนำข้อมูลในบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์แยกแยะถึงความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละกลุ่มรายได้ แต่ละกลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ เป็นต้น ผลคือทำให้ธนาคารและนันแบงก์วิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ต้นทุนการปล่อยกู้และต้นทุนการดำเนินงานต่ำลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดทางให้สถาบันการเงินนำข้อมูลที่เจ้าของเซ็นยินยอมให้เปิดเผยเฉพาะการขอสินเชื่อและบัตรเครดิตไปใช้ทำแบบจำลองวิเคราะห์สินเชื่อได้เลย โดยไม่ต้องเซ็นยินยอมเพิ่มนั้น อาจเสี่ยงต่อปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องการละเมิดสิทธิการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าของข้อมูลอาจไม่สบายใจว่าแบบจำลองเครดิตคืออะไร จะมีการนำไปใช้เพื่ออะไรต่อ เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องต่อไปได้

ประเด็นต่อมา แม้การนำข้อมูลไปใช้จะกำหนดให้ต้องตัดรายละเอียดข้อมูล ชื่อ นามสกุล รายได้ อาชีพ แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บไว้ทั้งที่เครดิตบูโร และธนาคารหรือนันแบงก์ด้วย จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าหลังจากทำแบบจำลองเครดิตแล้ว ธนาคารหรือนันแบงก์ที่มีรายละเอียดอยู่จะนำไปหาประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการทำแบบจำลองหรือไม่

ที่สำคัญ ฝ่ายที่จะได้ประโยชน์หลักจากการวิเคราะห์ คือธนาคารและนันแบงก์ เพราะทำให้วิเคราะห์สินเชื่อได้แม่นยำขึ้น ส่งผลให้หนี้เสียลดลง ต้นทุนการให้บริการต่ำลง เพราะไม่ต้องไปควานหาลูกค้าแบบหว่านแหเหมือนเดิม แต่ผู้บริโภคแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมอาจทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ถึงจะวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แม่นยำขึ้น ต้นทุนถูกลง แต่ก็ไม่มีอะไรมาเป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคกลุ่มที่มีวินัยในการชำระหนี้จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมลดลง กลายเป็นว่าทางการมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ต้นทุนต่ำลง เป็นสำคัญ

ส่งผลให้เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า ประกาศนี้ออกมาเพื่อเอื้อให้กับผู้ประกอบการให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้ง่ายขึ้น ตอบแทนกับการให้ ธปท.สามารถออกกรอบหลักเกณฑ์การหาลูกค้าปัจจุบันที่จะเข้มงวดขึ้นหรือไม่