posttoday

หน่วยงานรัฐปูพรม ลุยแก้หนี้นอกระบบ

15 เมษายน 2560

รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการแก้หนี้นอกระบบอย่างเป็นทางการโดยมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ

รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการแก้หนี้นอกระบบอย่างเป็นทางการโดยมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ

รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการแก้หนี้นอกระบบอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2560 โดยมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบด้วยการเปิดให้ขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของเจ้าหนี้นอกระบบที่ยังปล่อยกู้ในรูปแบบเดิมต่อไป ก็ต้องคิดดอกเบี้ยภายใต้อัตราที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 15% หากตรวจสอบพบว่า มีการปล่อยกู้เกินกฎหมายกำหนด ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นับแต่เปิดให้มีการยื่นใบสมัครขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้ประกอบการยื่นเอกสารแล้ว 155 ราย จาก 50 จังหวัด ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาและออกใบอนุญาตแล้ว 19 ราย โดยมีอีก 100 รายอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารความถูกต้อง และจากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าในจำนวนดังกล่าวมีเจ้าหนี้นอกระบบที่กลับใจเข้าสู่ระบบ มาขอใบอนุญาตมากกว่า 50% ที่เหลือเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อ ลีสซิ่งไฟแนนซ์ รวมถึงร้านทองก็สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาต 155 ราย ยังกระจายอยู่ไม่ครบทุกจังหวัด ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ลงพื้นที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์เรื่องการแก้หนี้นอกระบบ และเชิญชวนเจ้าหนี้นอกระบบและผู้ที่สนใจมาจดทะเบียนทำพิโกไฟแนนซ์ กันให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี ในจังหวัดที่ยังไม่มีใครยื่นขอเปิดพิโกไฟแนนซ์ ก็ยังมีผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ที่เปิดให้บริการอยู่ จึงถือว่า 2 โครงการดังกล่าว จะเข้าไปช่วยให้คนในระดับฐานรากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า โครงการ พิโกไฟแนนซ์ เน้นปล่อยกู้รายย่อยรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท สามารถนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ส่วนนาโนไฟแนนซ์ ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ต้องกู้เพื่อไปประกอบอาชีพ ซึ่งผู้ประกอบการนาโน จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อของตัวเอง ดังนั้นจึงเชื่อว่าการปล่อยกู้ของพิโกไฟแนนซ์จะไม่ทับซ้อนกับนาโนไฟแนนซ์ แต่การปล่อยกู้ของ 2 รูปแบบนี้จะช่วยให้คนฐานรากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่าการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ความคืบหน้าโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการได้เปิดให้บริการแล้ว 23 ราย มีสาขารวมกันมากกว่า 1,700 สาขา มียอดปล่อยกู้รวมกัน ณ สิ้นไตรมาสแรก 3,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนมีผู้ที่ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 1 แสนราย ทั้งนี้ในส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับต่ำคือ 1.5% ของยอดสินเชื่อรวม

สำหรับภาพรวมการขอใบอนุญาตทำนาโนไฟแนนซ์ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังแล้ว 30 ราย มี 4 รายที่ยื่นขอถอนใบอนุญาต เนื่องจากดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วเห็นว่าไม่คุ้ม กับมีบริษัทที่เปิดดำเนินการมาแล้วแต่ยังไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกลัวเป็นหนี้เสีย จึงแจ้งขอถอนใบอนุญาตไป

ขณะเดียวกันมีอีก 3 บริษัทที่เตรียมเปิดตัวธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในปีนี้ คาดว่าด้วยความเชี่ยวชาญ จะทำให้ยอดปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ปีนี้ดีขึ้นได้แก่ แอสเซนด์ นาโน ของกลุ่มซีพี ผ่านบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท นครหลวง ลีสซิ่ง-แฟ็กเตอริง และบริษัท เอเชีย เวลธ์ พลัส แมเนจเม้นท์

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการแอบอ้างให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังจะถือเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการรับฝากเงินจากประชาชนที่ไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสน-1 ล้านบาท

ในส่วนการดำเนินการปราบปรามกลุ่มแก๊งเงินกู้นอกระบบนั้น หน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้อยู่ที่ตำรวจ โดยรัฐบาลสั่งการไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีโต้โผใหญ่ในการปราบปรามอย่าง พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ระบุว่าตำรวจรับคำสั่งมาจากรัฐบาลในเรื่องของการปราบปรามเป็นหลัก และที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-10 เม.ย. 2560 ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เข้าสำรวจรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบอย่างผิดกฎหมาย จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลจึงเข้าทลายแก๊งเงินกู้นอกระบบ และให้รายงานผลปฏิบัติการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในทุกๆ 10 วัน

“ขณะนี้เราจับมาได้ 149 คนจากทั่วประเทศ โดยเป้าหมายใหญ่ที่เข้าไปทลายคือที่ จ.เพชรบุรี สุพรรณบุรี และล่าสุดที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่ โดยเราใช้กำลังจากตำรวจกองปราบปรามเป็นหลักในการบุกค้นจับกุม และยังคงต้องเดินหน้าจัดการจับกุมต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล และที่สำคัญคือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าว

รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม กล่าวอีกว่า การสืบสวนหาต้นตอของแก๊งเงินกู้นอกระบบ ตำรวจจะแกะข้อมูลจาก “สติ๊กเกอร์” ของกลุ่มเงินกู้นอกระบบที่แปะไว้ตามชุมชน เสาไฟฟ้า รวมถึงรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่มีอยู่ในมือ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกวาดล้างยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนการไกล่เกลี่ยไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ ซึ่งในส่วนนี้จะมีท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการ

ขณะเดียวกัน พร้อมๆ ไปกับการเปิดทางให้เจ้าหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ ด้วยการขอใบอนุญาตทำธุรกิจพิโก ไฟแนนซ์ และปราบปรามแก๊งเงินกู้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมายแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้อนุมัติให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อวงเงินธนาคารละ 5,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดมียอดปล่อยสินเชื่อรวมกันแล้ว 1,030 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้สินเชื่อแล้วกว่า 2.1 หมื่นราย

รวมทั้งยังมีมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้ทุกจังหวัด เมื่อลูกหนี้ผ่านขั้นตอนนี้แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูลูกหนี้ โดยมีหน่วยงานเข้าช่วย เช่นกองทุนหมู่บ้าน และสถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบบูรณาการ พร้อมทั้งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล