posttoday

ไอแบงก์หนี้เสียพุ่งเกิน60%

27 มีนาคม 2560

ไอแบงก์โคม่ารอบใหม่ หนี้เอ็นพีแอลย้อนกลับแตะเกิน 60% กระทรวงการคลังสั่งเร่งแก้ไขหวั่นกระทบเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้าน

ไอแบงก์โคม่ารอบใหม่ หนี้เอ็นพีแอลย้อนกลับแตะเกิน 60% กระทรวงการคลังสั่งเร่งแก้ไขหวั่นกระทบเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคาร ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2560 เพิ่มเป็น 5.73 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 61.54% ของสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 9.32 หมื่นล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้รายใหญ่ตกชั้นมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล

สำหรับลูกหนี้ปกติ 3.58 หมื่นล้านบาท เป็นลูกหนี้ชั้นปกติค้างชำระไม่เกิน 1 เดือน (บี 1) มีจำนวน 3.02 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน (บี 2) อยู่ 5,640 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าลูกหนี้กลุ่มบี 2 จะตกชั้นมาเป็นเอ็นพีแอลอีก 2,000 ล้านบาท แม้ว่าธนาคารจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวแล้วก็ตาม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ได้สั่งคณะกรรมการและผู้บริหารไอแบงก์ให้เร่งดำเนินแก้ไขหนี้เสีย เพราะธนาคารต้องนำผลการดำเนินงานของไตรมาสแรกปี 2560 รายงานให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด รับทราบในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ที่จะเพิ่มให้ตามผลการดำเนินงานเพื่อรักษาไม่ให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ไม่ติดลบ หรือเป็น 0% ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของนักลงทุนที่จะเข้าร่วมพันธมิตรกับธนาคาร

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับแสดงความคิดเห็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน เพื่อให้ธนาคารออมสินสามารถเพิ่มทุนได้จากเงินงบประมาณ หรือจากแหล่งเงินอื่น เช่น กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อทำให้ธนาคารออมสินสามารถขยายงานตามพันธกิจของธนาคารหรือตามนโยบายของรัฐบาลได้

นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อให้ ธอส.ให้สามารถบริการสินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage : RM และบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้านสินเชื่อและเงินฝาก และให้ธนาคารสามารถระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรและสลาก ทำให้การบริหารสภาพคล่องของธนาคารดีขึ้น ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังเปิดรับฟังความเห็นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้การดำเนินงานของ บสย.ครอบคลุมถึงการค้ำประกันธุรกรรมที่ลักษณะการให้สินเชื่อ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมั่นใจให้สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น