posttoday

คลังดีเดย์มิ.ย.แจกบัตรผู้มีรายได้น้อย

17 มีนาคม 2560

กระทรวงการคลังลงนามร่วมกับ 5 หน่วยงาน ในการลงทะเบียนคนจน รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. 2560

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ,อภิษฎา แพภิรมย์รัตน์

กระทรวงการคลังลงนามร่วมกับ 5 หน่วยงาน ในการรับลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 หรือการลงทะเบียนคนจน รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. 2560 ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร รวมทั้งลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมที่ดิน กรมการปกครอง เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการลงทะเบียนไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมที่ดิน ธปท. กรมสรรพากร

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมที่ดิน เพื่อให้เข้ามาช่วยเรื่องการตรวจสอบการครอบครองที่ดิน ส่วน ธปท.จะเข้ามาช่วยตรวจสอบเรื่องเงินในบัญชีของผู้ลงทะเบียน เพราะเคยมีกรณีที่ผู้เกษียณเข้ามาลงทะเบียนเพราะไม่มีรายได้ แต่เมื่อตรวจสอบเงินในบัญชี พบว่ามีหลายล้านบาท บางรายมีบ้านใหญ่โต

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเพิ่มเงื่อนไขให้มีการตรวจสอบเงินในบัญชี และการถือครอง ที่ดิน ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ จะช่วยคัดกรองผู้ที่ผ่านคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยผู้ผ่านการลงทะเบียนรอบแรกแล้ว หากมาลงทะเบียนรอบใหม่ก็จะถูกตรวจสอบทั้งสองเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ที่เคยได้สิทธิรอบแรก อาจจะไม่ได้สิทธิในรอบใหม่ก็เป็นได้ โดยภาพรวมผู้มาลงทะเบียนรอบนี้ คาดว่าจะมีสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านราย

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 14 ล้านราย โดยกระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรูปแบบการให้สวัสดิการ เบื้องต้นจะให้ความช่วยเหลือด้านรถเมล์ ฟรี รถไฟฟรี และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ผ่านบัตรสวัสดิการที่จะมอบให้ผู้ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งในบัตรจะมีรูปผู้ที่รับสวัสดิการ พร้อมข้อมูลสวัสดิการที่ได้รับ คาดว่าจะเริ่มแจกได้ในเดือน มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ ในอนาคตกระทรวงการคลังยังจะมีแนวคิดการช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่า ที่พัก เช่น ผู้มีภาระผ่อน 2,000 บาท/เดือน รัฐอาจช่วย 500-1,000 บาท และเรื่องทำประกันให้ผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐจ่ายค่าเบี้ยให้ 99 บาท หากเข้ารักษาพยาบาล จะชดเชยรายได้ 300 บาท/วัน เป็นต้น ซึ่งทั้งสองมาตรการยังอยู่ระหว่างการศึกษา

"มาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ อาจไม่ได้เป็นการแจกเงินเหมือนที่ผ่านมา เพราะว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว มาตรการต้องแตกต่างกันไป โดยคาดว่าหลังจากลงทะเบียนแล้ว จะสามารถแจกบัตรสวัสดิการได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะระบุมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ แต่จะสรุปอีกครั้งว่าจะให้ฟรีเลย หรือลด 25-50% เช่นเดียวกับค่าเดินทาง ซึ่งที่ผ่านมาให้แบบเหวี่ยงแห คนรวย คนจน ได้หมด แต่ครั้งนี้จะให้สิทธิเฉพาะเลย" สมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สวัสดิการที่จะออกมาจะใช้งบประมาณเท่าไร ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนว่ามีเท่าไร และบางมาตรการก็มีการตั้งงบประมาณที่จ่ายอยู่แล้ว เช่น รถเมล์ฟรี แต่การทำบัตรสวัสดิการ จะทำให้รู้ยอดว่ามีคนมาใช้รถเมล์ฟรีเท่าไร โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายคืนให้ ขสมก.ภายหลัง ขณะที่ภายหลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จ ต้องใช้เวลาตรวจสอบ 1-2 เดือน ก่อนประกาศและแจกบัตรสวัสดิการเดือน มิ.ย.ซึ่งจะทำคู่ขนานไปกับการประสานผู้ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้รับบัตรสวัสดิการด้วย

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ลงนามความร่วมมือในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ระหว่าง วันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. 2560 ผ่าน 5 หน่วยงานรับลงทะเบียน ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเขตกรุงเทพ มหานคร โดยการลงทะเบียนครั้งก่อน มีผู้มาลงทะเบียนรวม 8 ล้านราย แต่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 7 ล้านราย สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีผู้ที่มาลงทะเบียน 14 ล้านราย

กฤษฎา กล่าวว่า ผู้ที่จะมาลงทะเบียนสามารถขอรับแบบฟอร์ม การลงทะเบียนได้ที่หน่วยลงทะเบียนทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสามารถ ดาวน์ โหลดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวง การคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อี-เพย์เมนต์ และเว็บไซต์ของหน่วยงานรับลงทะเบียน 5 หน่วยงาน เพื่อเตรียมกรอกข้อมูลที่ใช้ในการลง ทะเบียน

อภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.คาดว่าจะมีครอบครัวเกษตรกรเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายครั้งนี้คือ 10 ล้านราย จากครั้งก่อนมาลงทะเบียน 4 ล้านราย ซึ่งได้เตรียมความพร้อมโดยการประสานองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ที่มีอยู่กว่า 5,300 แห่ง ช่วยรับลงทะเบียนให้

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ 1,275 สาขา จะประสานกับ อบต.และเทศบาล จัดชุดเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่ไปรับลงทะเบียนแก่ชาวบ้านและเกษตรกรถึงที่ชุมชน จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้ามาเชื่อมต่อเข้ากับระบบกลางของ ธ.ก.ส.อีกที ขณะเดียวกันยังได้มีการให้สาขาประเมินจำนวนประชาชนที่จะเข้ามาลงทะเบียน พร้อมกับจัดพื้นที่แยกต่างหาก และพนักงานแนะนำให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการธุรกรรม ทั่วไปไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการ ลงทะเบียนด้วย

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร สายงาน สายงานบริหารจัดการทาง การเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยอดลงทะเบียนกับธนาคารครั้งก่อนมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน ครั้งนี้ธนาคารเตรียมประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเปิดรับลงทะเบียน เพราะเชื่อว่าครั้งนี้นักเรียน นักศึกษา จะให้ความสนใจมาลงทะเบียนมากขึ้น เพราะต้องการได้รับสวัสดิการเรื่องรถเมล์ รถไฟ

ด้านธนาคารออมสิน ก่อนหน้านี้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารมีความพร้อมในการลงทะเบียนผู้มี รายได้น้อยรอบที่ 2 ที่คาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดราว 4 ล้านคน แยกเป็นคนที่ลงทะเบียนรอบแรกจะต้องมาลงทะเบียนซ้ำทุกปี ซึ่งในปี 2559 มีผู้มาลงทะเบียนกับธนาคารออมสิน 2.5 ล้านคน และผู้ที่ต้องการมาลงทะเบียนครั้งแรกอีกราว 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ธนาคารได้เตรียมความ พร้อมโดยเตรียมจ้างพนักงานและลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 1,500-2,000 คน พร้อมซื้อเครื่องอ่านชิปในบัตรประชาชนสาขาละ 8 เครื่อง กระจายทั่ว 1,065 สาขาทั่วประเทศ รวม 8,520 เครื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการ กรอกข้อมูลประชาชน ช่วยลดความผิดพลาดได้ เพราะเครื่องจะอ่านข้อมูลจากชิปการ์ดในบัตรประชาชนแล้ว ถ่ายลงระบบของธนาคารออมสิน ไม่ต้องเสียเวลาในการกรอกเอกสารด้วยกระดาษ แล้วให้พนักงานมาคีย์ข้อมูลลงเครื่องเองอีก ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในเรื่องข้อมูลและการสวัสดิการกับผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย

สำหรับปี 2549 มีผู้ที่มาลงทะเบียน 2.5 ล้านราย แต่มีการโอนเงินให้ 2.37 ล้านราย ในจำนวนนี้ 7,000-8,000 ราย พบว่ามีการกรอกข้อมูลผิดพลาด ทำให้ได้เงินสวัสดิการล่าช้า ที่เหลือเป็นผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดไว้