posttoday

ไอแบงก์จีบกองทุนมุสลิมฯ

14 มีนาคม 2560

ไอแบงก์ ร่อนหนังสือหาพันธมิตรมาร่วมทุนใหม่ 35 ราย คาดได้ข้อสรุปกลางปีนี้ เตรียมลุยให้กู้รายใหญ่รัฐวิสาหกิจและเมกะโปรเจกต์

ไอแบงก์ ร่อนหนังสือหาพันธมิตรมาร่วมทุนใหม่ 35 ราย คาดได้ข้อสรุปกลางปีนี้ เตรียมลุยให้กู้รายใหญ่รัฐวิสาหกิจและเมกะโปรเจกต์

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ส่งหนังสือเชิญชวนพันธมิตรที่สนใจเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนใหม่รวม 35 ราย เป็นสถาบันการเงิน 30 ราย กองทุน 5 ราย รวมทั้งเปิดเจรจากับนักลงทุนในประเทศที่สนใจและเชี่ยวชาญทางด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดให้นโยบายไว้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีสถาบันการเงินและกองทุนในต่างประเทศ ส่งหนังสือตอบรับกลับมา 5 ราย ยังไม่รวมรายที่เข้ามาเจรจาเป็นการส่วนตัว ส่วนในประเทศมีการเจรจากับกองทุนมุสลิมในประเทศไทย ที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินลงทุนและความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งตามที่ คนร.กำหนดจะต้องได้ข้อสรุปรายชื่อพันธมิตรใหม่ภายในกลางปีนี้

"พันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับไอแบงก์ มีการกำหนดสัดส่วนหุ้นไว้ไม่เกิน 74.5% ที่เหลือ 25.5% เป็นของกระทรวงการคลังเพื่อให้มีสิทธิในการออกเสียงคัดค้านได้ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาธนาคารขาดทุนราว 3,000 ล้านบาท หากพันธมิตรใหม่จะใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อให้เงินกองทุนขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.5% ได้ก็ต้องใช้เงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท" นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับแผนดำเนินงานปี 2560 ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีกำไรภายในสิ้นปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 กระทรวงการคลังทำหนังสือยกเลิกการระงับการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ส่งผลให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อที่มีวงเงินเกินกว่า 200 ล้านบาทได้ ซึ่งอยู่ระหว่างรอธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อนุมัติ โดยกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เตรียมปล่อยสินเชื่อ คือ รัฐวิสาหกิจชั้นดี ซึ่งที่ผ่านมาเคยปล่อยกู้ให้การบินไทย รวมทั้งมีแนวคิดปล่อยสินเชื่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายปล่อย สินเชื่อรายเล็กทั้งชาวมุสลิมและประชาชนทั่วไป อาทิ สินเชื่ออพาร์ตเมนต์มุสลิมอนุมัติไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท สินเชื่อสนับสนุนกลุ่มสหกรณ์มุสลิมรวมกว่า 250 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ตะกาฟุล มียอดเงินสมทบกว่า 360 ล้านบาท

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีเอฟ ล่าสุดมียอดกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท หากมีการโอนหนี้เสียแยกไปที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือ IAM ราว 4.5 หมื่นล้านบาท จะเหลือหนี้ของลูกค้ากลุ่มมุสลิมราว 3,000 ล้านบาท ที่ธนาคารจะต้องบริหารจัดการเองต่อไป