posttoday

ออมสินเข้มปรับเกณฑ์ให้กู้

06 มีนาคม 2560

ออมสิน ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้คุมเข้มคุณสมบัติและหลักประกันมากขึ้น หวังคุมคุณภาพลูกหนี้

ออมสิน ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้คุมเข้มคุณสมบัติและหลักประกันมากขึ้น หวังคุมคุณภาพลูกหนี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ทยอยปรับหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทั้งการเพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อให้รัดกุม เพื่อป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงการขยายวงเงินการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังได้ยกเลิกโครงการสินเชื่อบางประเภท เช่น การยกเลิกสินเชื่อไทรทอง เพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 ซึ่งที่ผ่านมา สินเชื่อไทรทองมียอดขอสินเชื่อต่อปีน้อยลงไปมาก ทำให้พอร์ตสินเชื่อมีขนาดเล็ก จึงได้พิจารณายกเลิกโครงการสินเชื่อดังกล่าวไป

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับพนักงานหน่วยงานเอกชนเพื่อให้เหมาะสม โดยพนักงานที่จะขอสินเชื่อได้ต้องมีอายุงานไม่น้อยกว่า 3 ปี มีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนตั้งแต่ 1.8 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นผู้ฝากเงินเผื่อเรียกของธนาคาร ซึ่งธนาคารจะให้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค หรือเพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงิน มีวงเงินให้กู้สูงสุดได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท/ราย

“เป็นเรื่องปกติของการทำงานที่ต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดรับกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับธนาคารออมสิน ถือว่าปล่อยกู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง แต่ภาพรวมผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้า เฉลี่ยอยู่ที่ 10% ขณะที่สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือนันแบงก์ ที่ปล่อยกู้ลูกค้ากลุ่มใกล้เคียงกันสามารถปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 28%” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เข้มงวดมากขึ้น โดยธนาคารจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ และใช้เงินของทายาทที่จะได้รับในอนาคตเมื่อผู้กู้เสียชีวิตสำหรับใช้ค้ำประกัน ทั้งนี้ จะให้กู้ต่อรายได้ไม่เกิน 7 แสนบาท ส่งผลให้ช่วงปีที่ผ่านมา ยอดปล่อยกู้ในโครงการนี้ลดลง จนภาพรวมสินเชื่อครูหดตัวลง 3-4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อครูคงค้างลดลงเหลือราว 4.7 แสนล้านบาท จากเดิมมียอดคงค้างมากกว่า 5 แสนล้านบาท