posttoday

คลังล้มแผนที่ดินมักกะสัน

27 กุมภาพันธ์ 2560

คลังจ่อพับแผนบริหารที่ดินมักกะสันแลกหนี้ 6.1 หมื่นล้าน ปล่อย รฟท.บริหารหารายได้ใช้หนี้แสนล้าน

คลังจ่อพับแผนบริหารที่ดินมักกะสันแลกหนี้ 6.1 หมื่นล้าน ปล่อย รฟท.บริหารหารายได้ใช้หนี้แสนล้าน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาที่ดินมักกะสันว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอขอเป็นผู้พัฒนาที่ดินมักกะสันเอง แทนการมอบให้กรมธนารักษ์ไปบริหารจัดการเพื่อแลกกับภาระหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาทนั้น ทาง คนร.ได้มอบหมายให้ รฟท.กลับไปทำแผนและรายละเอียดการบริหารจัดการที่ดิน และแนวทางการชำระหนี้มาเสนอ คนร.

ทั้งนี้ คนร.ได้ให้หลักการว่า กรณีที่ รฟท.ต้องการบริหารที่ดินมักกะสันเอง ขอให้รายได้ทั้งหมดที่ได้จากการบริหารที่ดินดังกล่าวต้องนำมาชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยของ รฟท.ที่มีภาระหนี้สินอยู่ราว 1.1 แสนล้าน แบ่งเป็นหนี้สินในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 3.3 หมื่นล้านบาท และหนี้สินสะสมเดิมอีก 6.1 หมื่นล้านบาท โดยจะไม่ให้นำไปรวมในผลดำเนินงานปกติของ รฟท. เนื่องจากมีผลดำเนินงานขาดทุนตกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจของ คนร. เกี่ยวกับแผนบริหารที่ดินมักกะสัน ที่ รฟท.จะเสนอให้พิจารณา คนร. พิจารณา หาก คนร.มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว เท่ากับให้ รฟท.เป็นผู้บริหารที่ดินมักกะสัน ดังนั้นแผนที่จะให้กรมธนารักษ์เข้าไปบริหารที่ดินมักกะสันเพื่อแลกกับภาระหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท คงต้องยุติแนวคิดดังกล่าวลง ทั้งหมดนี้ต้องรอมติ คนร.อย่างเป็นทางการก่อน

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะทำงานกำกับติดตามการพัฒนาที่ดินไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ทาง รฟท.มีแผนตั้งบริษัทลูกมาบริหารที่ดินที่ไม่ได้ใช้เดินรถและไม่เกิดประโยชน์ 3.9 หมื่นไร่ ซึ่ง รฟท.จะถือ 100% เป้าหมายคือเพื่อบริหารจัดการที่ดินของ รฟท.ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.มีรายได้จากที่ดินทั้งหมดเพียงกว่า 2,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งโครงการพัฒนาที่ดินตรงมักกะสันก็จะอยู่ในแผนพัฒนาที่ รฟท.ที่จะให้บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ามาบริหารด้วย

ทั้งนี้ เบื้องต้น รฟท.เตรียมจ้างเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญมาบริหารงานไปก่อนเพื่อทำระบบข้อมูลฐาน เนื่องจาก รฟท.ไม่มีฐานข้อมูลที่ดิน นอกจากนี้ยังต้องจัดทำร่างสัญญาประกวดราคา การคัดเลือกผู้เช่าและผู้ที่จะเข้ามาบริหารที่ดิน โดยระหว่างนี้ ทาง รฟท.ก็เตรียมตั้งบริษัท เพื่อรอรับการถ่ายงานจากเอกชน คาดว่าใช้เวลา 3-5 ปี ถึงจะให้บริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้นมาบริหารงานต่อไป