posttoday

แบงก์ห่วงหนี้เอสเอ็มอีรายเล็ก

20 กุมภาพันธ์ 2560

แบงก์ปาดเหงื่อประคองเอสเอ็มอีรายเล็ก แบกหนี้เสียบาน คอยดูแลให้ปรับตัวบริหารต้นทุนต่ำ

แบงก์ปาดเหงื่อประคองเอสเอ็มอีรายเล็ก แบกหนี้เสียบาน คอยดูแลให้ปรับตัวบริหารต้นทุนต่ำ

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดย่อมและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กลยุทธ์หลักลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายเล็ก (เอสเอสเอ็มอี) ที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาท/ปี เน้นการประคับประคองลูกค้าไม่ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ สนับสนุนให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในธุรกิจมากขึ้น บริหารต้นทุนให้ต่ำ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ทั้งนี้ ประเมินว่า เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีรายเล็กยังน่าเป็นห่วง มีโอกาสปรับขึ้นจาก 4.7% ของสินเชื่อรวมในสิ้นปีที่แล้ว โดยเอ็นพีแอลกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงเป็นไปตามธรรมชาติที่ลูกค้ากลุ่มนี้มีสายป่านสั้นกว่ากลุ่มอื่น อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปีนี้จึงยังต้องเฝ้าระวังลูกค้าเก่าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ธนาคารยังตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าเอสเอสเอ็มอีโตประมาณ 4-6% จากยอดคงค้างสิ้นปี 5 หมื่นล้านบาท ตามเป้าหมายสินเชื่อรวมทั้งธนาคาร โดยแนวโน้มเศรษฐกิจ 3.2% ทรงตัวจากปี 2559 โดยกลุ่มธุรกิจเป้าหมายหลัก เน้นคู่ค้าของลูกค้าเอสเอ็มอีและรายใหญ่ (ซัพพลายเชน) เบื้องต้นเจาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผู้รับเหมาที่ได้อานิสงส์โครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งขยายฐานลูกค้าในธุรกิจดิจิทัล หรืออี-คอมเมิร์ซ ให้มากขึ้น

“เรายังเห็นโอกาสลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ ซึ่งในประเทศมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาท ที่จดทะเบียนตามกฎหมายประมาณ 4 แสนราย แต่รวมทั้งระบบที่ไม่จดทะเบียนด้วยน่าจะสูงถึง 4 ล้านราย โอกาสมีมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราทำได้แค่ไหน โดยคุณภาพหนี้ธนาคารก็ห่วง หากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกมาเพิ่มเติมจะช่วยได้มาก และช่วยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้มากขึ้นด้วย” นางพิกุล กล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารประเมินว่าเอ็นพีแอลของลูกค้าเอสเอ็มอีน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว หลังจากเอ็นพีแอลของลูกค้าเอสเอ็มอีเริ่มลดลงเหลือ 4.7% แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะสูงสุดจริงหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาด้านคุณภาพหนี้แล้ว พบว่าลูกค้ามีปัญหาเรื่องการชำระหนี้อยู่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็กที่มียอดขาย 10-50 ล้านบาท ธนาคารจะติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบสัญญาณผิดปกติจะเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที ซึ่งในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ ทิศทางยังไม่เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2559

ด้าน นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ยังจับตาลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็ก ยอดขาย 10 ล้านบาท ที่มีสัดส่วน 40% ของยอดคงค้างเอสเอ็มอี 2 แสนล้านบาท เพราะเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ และมีความเสี่ยงเอ็นพีแอลสูงขึ้น ธนาคารพยายามควบคุมคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงในธุรกิจเกษตร อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเอ็นพีแอลลูกค้าเอสเอ็มอี 2.5% ใกล้เคียงกับเอ็นพีแอลรวมของธนาคาร เป็นอัตราที่ต่ำกว่าตลาดรวม