posttoday

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แต่ยังเผชิญภาวะ3ต่ำ2สูงอยู่

09 กุมภาพันธ์ 2560

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ไปอีกระยะ เตือนนักลงทุนต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงินให้ดีอย่าหวังว่าทางการจะดูแลให้ตลอด

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ไปอีกระยะ เตือนนักลงทุนต้องบริหารความเสี่ยงค่าเงินให้ดีอย่าหวังว่าทางการจะดูแลให้ตลอด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายในงานสัมมนา The Wisdom  Avenue : จับจังหวะโลก เจาะจังหวะการลงทุน” เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจบนความท้าทายปี 60” ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง คือ เศรษฐกิจโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ และ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งทั้ง 3 ด้านต่ำต่อเนื่องมานาน ยังไม่มีท่าทีจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ ส่วน 2 สูง คือ ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจโลกโตกระจุกตัวสูง เห็นได้จากข้อมูลที่คนที่รวยที่สุดในโลก 62 คน ซึ่งเป็นคนเพียงน้อยนิดแต่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากเท่ากับคนครึ่งโลก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ ในภาวะ 3 ต่ำ ทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือติดลบมานานของบางประเทศ ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนการลงทุน มีการนำเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยประเมินความเสี่ยงที่ไปลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการที่นักลงทุนเกล้าลงทุนเสี่ยง แต่ก็สามารกลับไปกลัวการลงทุนเสี่ยงได้ตลอดเวลานั้น ทำให้เกิดความผันผวนสูงในตลาดเงินตลาดทุน

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมองเข้าหาประโยชน์ตัวเองมากขึ้น ในอดีตกลไกการค้ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก คือ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวที่ 4% การค้าโลกจะโตประมาณ 8% แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาการค้าโลกยิ่งอ่อนแรงลง ทำให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

นายวิรไท กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเองก็เผชิญกับภาวะ 3 ต่ำ 2 สูงไม่ต่างจากเศรษฐกิจโลก และยังตองระมัดระวังความผันผวนจากปัจจัยภายนอก แต่ประเทศไทยมีกันชนที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาค จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง มีทุนสำรองประเทศในระดับสูง และมีสัดส่วนการเข้ามาถือลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศต่ำ ปัจจัยเหล่านี้จึงช่วยลดความผันผวนให้เศรษฐกิจไทยได้พอสมควร

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังน่าจะเผชิญความเสี่ยงจากตลาดโลกและการแสวงหาผลตอบแทนสูงจากอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะ  ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังน่าจะเผชิญปัญหาในเชิงโครงสร้างต่อไป คือ 1. มีปัญหาเศรษฐกิจการเมือง เกิดความเหลื่อมล่ำทางสังคม เพราะไม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.การใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ สร้างความท้าทายให้คนหลายกลุ่มที่นำเทคโนโลยีซึ่งมีผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องหาทางเยียวยา 3. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากอัตราการเกิดต่ำ ทำให้รายจ่ายทางการรักษามากขึ้น และมีผลต่อการทำนโยบายของภาคการเมืองทีอาจติดกับดักการทำนโยบายเอาใจผู้สูงอายุที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ที่มักคำนึงสวัสดิการเป็นสำคัญ ทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศติดดัก และ 4.การขยายตัวของเมืองใหม่ เป็นต้น

“แต่จากกันชนที่ดี และการที่เศรษฐกิจมีการใช้จ่ายของภาครัฐ การส่งออกที่กระจายตัวได้มากขึ้น เชื่อว่าส่งออกไทยจะโตได้ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้และมีทิศทางที่ดีขึ้น ในปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ระดับ 3.2% แต่สิ่งสำคัญที่อยากเตือนนักลงทุนคือ ต้องบริการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี หากต้องไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่าคาดหวังว่าทางการจะมาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ ควรปิดความเสี่ยงของตัวเองให้ดี เพราะความผันผวนน่าจะอยู่กับเราไปอีกระยะ จากความไม่ชัดเจนของการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ” นายวิรไทกล่าว