posttoday

แบงก์ห่วงหนี้เสียฉุดให้กู้บุคคลวูบ

11 มกราคม 2560

ธปท.เผยแบงก์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเดือน พ.ย. 2559 หด สวนทางนันแบงก์ยังโตต่อเนื่อง คาดธนาคารห่วงคุณภาพหนี้ด้อยลง ด้านรูดปรื๊ดยอดโตแผ่ว

ธปท.เผยแบงก์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเดือน พ.ย. 2559 หด สวนทางนันแบงก์ยังโตต่อเนื่อง คาดธนาคารห่วงคุณภาพหนี้ด้อยลง ด้านรูดปรื๊ดยอดโตแผ่ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับในเดือน พ.ย. 2559 ว่า ทั้งระบบมีจำนวนบัญชีสินเชื่อทั้งสิ้น 13.64 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 8.5 แสนบัญชี หรือ 6.65% มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 3.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 4% ในจำนวนนี้เป็นการปล่อยกู้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) เป็นหลัก

ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบปล่อยกู้โดยนันแบงก์ 11.13 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.06 ล้านบัญชี หรือ 10.57% และเพิ่มขึ้น 1.53 หมื่นล้านบาท หรือ 9.27% ตามลำดับ ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.5 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.57 แสนล้านบาท ลดลง 2.13 แสนบัญชี หรือ 7.81% และลดลง 2,317 ล้านบาท หรือ 1.45% คาดว่าสาเหตุมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้กู้มากขึ้น เนื่องจากห่วงคุณภาพหนี้จะด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

นอกจากนี้ ธปท.ยังรายงานยอดการให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตทั้งระบบในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรรวม 1.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 2,546 ล้านบาท หรือ 1.75% แบ่งเป็น การใช้จ่ายในประเทศ 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 792 ล้านบาท หรือ 0.66% ใช้จ่ายในต่างประเทศ 1.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 985 ล้านบาท หรือ 10.84% และกดเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตร 1.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 768 ล้านบาท หรือ 4.92%

อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด 1.48 แสนล้านบาท นั้น ส่วนใหญ่ 1.04 แสนล้านบาท เป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าจะมีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงที่มีกำลังซื้อ ส่วนบัตรที่ ออกโดยนันแบงก์มียอดใช้จ่าย 4.37 หมื่นล้านบาท โดยบัตรเครดิตทั้งระบบ 23.16 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 1.57 ล้านใบ หรือ 7.26% ในจำนวนนี้ มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 3.26 แสน ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.35 หมื่นล้านบาท หรือ 4.34%