posttoday

ธปท.คุมเข้มแบงก์รัฐ1ม.ค.

27 ธันวาคม 2559

ครม.เห็นชอบเกณฑ์การกำกับดูแลแบงก์รัฐ ให้อำนาจ ธปท.ดูแลเบ็ดเสร็จ เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2560

ครม.เห็นชอบเกณฑ์การกำกับดูแลแบงก์รัฐ ให้อำนาจ ธปท.ดูแลเบ็ดเสร็จ เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2560

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในหนังสือแจ้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ แบงก์รัฐ ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบออกเกณฑ์การกำกับดูแลแบงก์รัฐ ระยะที่ 1 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ครอบคลุมการดูแลด้านต่างๆ ยกเว้นเกณฑ์ดูแล ความเสี่ยงด้านการตลาดและการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านตลาด และการจัดทำแบบรายงานสภาพคล่อง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561

สำหรับเกณฑ์ในระยะที่ 1 ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแล 6 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านธรรมาภิบาลความโปร่งใสของผู้บริหารแบงก์รัฐ ซึ่ง ธปท.มีอำนาจที่จะถอดถอนได้ ด้านที่ 2 การดำรงเงินกองทุน จะใช้เกณฑ์บาร์เซิล 2 ที่ต้องมีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 8.5% ส่วนแบงก์รัฐที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการจะผ่อนการดำรงเงินทุนถึงวันที่ 1 ก.ค. 2560

ด้านที่ 3 การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องจะต้องไม่ต่ำกว่า 6% ของเงินฝาก และต้องดำรงเงินฝากกระแสรายวันไว้ที่ ธปท.ตามกำหนดขั้นต่ำด้วย ด้านที่ 4 ด้านสินเชื่อ ต้องมีการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุม วิเคราะห์ลูกค้า การประเมินหลักประกัน การกันเงินสำรองหนี้เสีย และการปรับโครงสร้างหนี้ จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์

สำหรับด้านที่ 5 การกำกับลูกหนี้ รายใหญ่จะกำหนดตามพันธกิจ โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยรายใหญ่กลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 15% ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทตลาดรอง สินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 25% ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/กลุ่ม และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปล่อยได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท และด้านที่ 6 การบัญชีและเปิดเผยข้อมูล ต้องทำงบการเงินทุกรอบระยะเวลา 12 เดือน และใส่ไว้ในรายงานประจำปี

ทั้งนี้ ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2560 แบงก์รัฐต้องแจ้งข้อมูลวิธีการคำนวณสินทรัพย์ด้านเครดิต และข้อมูลธุรกรรมในบัญชีเพื่อการค้าให้ ธปท.ทราบ