posttoday

อุตสาหกรรมมาแรง ธนาคารเล็งปล่อยกู้

25 ธันวาคม 2559

จากแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่มองว่าน่าจะโต 3-3.5% ใกล้เคียงกับจีดีพีปีนี้โต

โดย...พรสวรรค์ นันทะ /ศุภลักษณ์ เอกกิติวงษ์

จากแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่มองว่าน่าจะโต 3-3.5% ใกล้เคียงกับจีดีพีปีนี้โต บนการขยายตัวที่แทบไม่ได้ขยับดังกล่าว ภาคการเงินมองว่าอุตสาหกรรมสินค้าหรือบริการไหนบ้างที่จะเป็นหัวหอกดาวเด่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้แบบก้าวกระโดด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มปรับ จากที่เคยเติบโตจากภาคการผลิตเป็นสำคัญมาเป็นการโตจากภาคบริการมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัดส่วนขอภาคบริการมากขึ้นนั้น ความเข้มข้นของการลงทุนอาจไม่มากเท่าภาคการผลิต แต่การปรับจะส่งผลดีต่อการเติบโตในระยะยาว โดยในปี 2560 ธปท.คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะโตที่ระดับ 3.2%

ทั้งนี้ ภาพธุรกิจที่มีแนวโน้มโตได้ดีหรือธุรกิจดาวรุ่งในปีหน้านั้น ภาพธุรกิจที่โตได้ดีคงไม่เห็นได้ชัดเจนเหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นภาพชัดว่าอุตสาหกรรมที่เป็นคลาสเตอร์ อย่างอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ เติบโตได้ดีมากเป็นพระเอก เพราะการปรับดีขึ้นของธุรกิจในปีหน้าจะเป็นธุรกิจที่เป็นพระรองให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้โตต่อ เช่น เคมิคอล ยาง ที่อาจเห็นภาพของตัวสินค้าได้ไม่ชัดเจนนักว่าไปโตในธุรกิจกลุ่มใดบ้าง

เนื่องจากธุรกิจเคมิคอลอาจจะไปเป็นวัตถุดิบให้อีก 10 อุตสาหกรรม ทำให้ไม่เห็นอุตสาหกรรมปลายทางที่จับต้องได้ว่ามันคืออะไร หรือในธุรกิจอาหารของไทยก็มีแนวโน้มที่โตได้ดี มีพัฒนาการที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูจากการจำนวนผู้ประกอบการที่ขอเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็มีอุตสาหกรรมอาหารที่หลากหลายขึ้น และมีผู้เล่นที่กระจาย โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันมันกระจายไปมาก ไม่ได้กระจุกเหมือนอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่อย่างญี่ปุ่น 5 เจ้า ที่เห็นภาพชัดกว่า เป็นต้น

“การที่ธุรกิจปีหน้าโตกระจายไปหลายๆ ธุรกิจ ทำให้ปีหน้าหลายคนอาจเห็นภาพการเติบโตไม่ชัด แต่เรามองว่าปีหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีนี้ ไม่ตกต่ำลงแน่นอน” วิรไท ระบุ

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีมุมมองที่ดีต่อ 4 ธุรกิจ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2560 ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้าง ที่ยังเติบโตจากผลบวกของบรรยากาศการลงทุนที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐผลักดันอย่างต่อเนื่อง

2.ธุรกิจบริการสุขภาพ ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้า (Medical Tourism) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายประเทศในภูมิภาค ในด้านคุณภาพการให้บริการและราคาที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้รายได้ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

3.ธุรกิจยานยนต์ โครงการรถยนต์คันแรกทยอยสิ้นสุดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 น่าจะเป็นผลดีต่อยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนมีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะไปตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย

4.ธุรกิจท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศต่อเนื่อง แม้ตลาดต่างชาติที่ท่องเที่ยวไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ผ่านความผันผวนของค่าเงิน และจากมาตรการดูแลคุณภาพทัวร์จีน แต่บางตลาดคงมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ รัสเซียและสแกนดิเนเวีย

ขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในปี 2560 มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรและประมง ที่ยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากระบบการบริหารจัดการและตลาดโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและราคาตกต่ำ โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ที่ราคายังไม่ดีมากนัก

นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อประชาชนลดลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์คงทน โดยพบว่าอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าเริ่มล้นตลาด ส่วนอสังหาริมทรัพย์นอกเมืองก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งธุรกิจนี้อาจกลับมาคึกคักได้ หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเหมือนปีที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ฝ่ายวิจัยของธนาคารแต่ละแห่งมีมุมมองต่อธุรกิจแตกต่างกันบ้าง ธุรกิจที่ดียังมีการขยายงาน แต่ธุรกิจที่เริ่มไม่ดีจะปรับลดค่าใช้จ่ายลง โดยงานที่ยังขยายได้ในปีหน้าจะเป็นงานเกี่ยวกับการทำโครงการขนาดใหญ่ และโลจิสติกส์ อาชีพวิศวกร งานด้านการวางระบบไอที งานด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ จะยังได้รับความนิยม รวมทั้งงานด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ที่แต่ละองค์กรจะต้องการมากขึ้นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย รองลงมาคืองานด้านบริการเฉพาะทาง เช่น บริการทางการแพทย์ บริการทำบัญชี งานสื่อโฆษณา เป็นต้น

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ได้ประมิน “ดาวรุ่ง” สินค้าเกษตรไทยปีหน้าว่า ภาคการเกษตรแม้มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของจีดีพี แต่ 1 ใน 3 ของคนทำงานในประเทศ หรือ 12.4 ล้านคน เป็นเกษตรกรที่อยู่ในภูมิภาค ทำให้สินค้าเกษตรเป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง กุ้ง ที่มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ดังนั้นหากราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในแนวโน้มที่ดี ก็เสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้โดยไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่ม

สินค้าเกษตร “ดาวรุ่ง” ที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องถึงปีหน้า คือ “อ้อย” เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กปลายเดือน พ.ย.อยู่ที่ 19.8 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากราคาเมื่อเดือน ม.ค. 2559 คาดว่าราคายังอยู่ในแนวโน้มที่ดีในปีหน้าหลังปริมาณสินค้าในตลาดโลกตึงตัว

เช่นเดียวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งที่กำลังเป็น “ดาวเด่น” เข้าสู่ภาวะผลผลิตฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากโรคตายด่วนระบาดเมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้ผลผลิต “กุ้งขาว” ลดลงกว่า 60% กระทบอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยให้ขาดแคลนวัตถุดิบ จึงคาดว่าปีหน้าผลผลิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้น 15% ซึ่งราคากุ้งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากความต้องการในตลาดโลก

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นได้หลังเป็นดาวร่วงมาหลายปี อย่างยางพารานั้น ราคาก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวคาดว่าราคาปีหน้าอาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2559/2560 ที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตข่าวทั่วโลก