posttoday

ไทย-อินโดนีเซียร่วมมือใช้เงินบาทและรูเปีย

23 ธันวาคม 2559

ธปท.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายและลงทุนระหว่างกันในประเทศอาเซียน หวังให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้มากกว่า 15%

ธปท.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายและลงทุนระหว่างกันในประเทศอาเซียน หวังให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้มากกว่า 15%

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินกับธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เงินบาทและเงินรูเปียในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ไม่ต้องใช้เงินเหรียญสหรัฐมาเป็นสกุลกลางในการทำการทำธุรกรรม ช่วยลดความผันผวนด้านค่าเงิน

ในวันเดียวกันธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ยังได้ร่วมลงนาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินกับธนาคารกลางประเทสอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินริงกิตและรูเปียระหว่างกันมากขึ้นด้วย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวของธนาคารกลางจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบันการทำธุรกรรมค้าขายและหักชำระเงินระหว่างประเทศภายในภูมิภาคสัดส่วน 85% ใช้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ และอีก 15% ใช้สกุลเงินท้องถิ่น แต่เมื่อมีความร่วมมือเช่นนี้จะส่งเสริมสัดส่วนการใช้เงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 15%

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 6-7% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ส่วนมูลค่าการค้ากับอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5 แสนล้านบาท ) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% 

อย่างไรก็ดี ภายหลังความร่วมมือกับอินโดนีเซียครั้งนี้แล้ว ธปท.จะต้องแต่ตั้งธนาคารพาณิชย์ที่จะมาหักชำระระหว่างเงินบาทกับเงินรูเปียต่อไป เหมือนที่เคยดำเนินการความร่วมมือกับมาเลเซียก่อนหน้านี้ ที่ไดตั้งธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ  และธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) มาเป็นผู้ทำธุรกรรมหักชำระ ส่วนกับประเทศอินโดนีเซีย ธปท. ยังไม่ได้แต่งตั้งธนาคารตัวแทนผู้หักชำระ ยังไม่รู้ว่าจะแต่งตั้งธนาคารใด แม้ว่าปัจจุบันจะมีเพียงธนาคารกรุงเทพเพียงแห่งเดียวที่มีสาขาที่อินโดนีเซียก็ตาม