posttoday

ธปท.-กสทช.แจงมาตรการความปลอดภัยบริการการเงินผ่านมือถือ

20 ธันวาคม 2559

ธปท. - กสทช. ร่วมสร้างความมั่นใจการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ-พร้อมเพย์ ยันไม่มีการเปิดเผยเลขบัญชี

ธปท. - กสทช. ร่วมสร้างความมั่นใจการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ-พร้อมเพย์ ยันไม่มีการเปิดเผยเลขบัญชี

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ร่วมกันแถลงแนวทางการดูแลความปลอดภัยการใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายแบงก์กิ้ง) รวมถึงบริการพร้อมเพย์ที่จะเปิดให้บริการในไตรมาสแรกปี 2560 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว ด้วยการกำหนดแนวปฎิบัติดังนี้

1. สำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือกำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศ กสทช. ในการโอนย้ายเลขหมายอย่างเคร่งครัด โดยในการขอออกซิมการ์ดใหม่ การขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของซิมการ์ด การขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ นั้น ผู้ใช้บริการจะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงเท่านั้น หากผู้ให้บริการรายใดฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำและปรับ ซึ่งการปรับจะคำนวณจาก 1.รายได้จากผู้ประกอบการ 2. จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบท และ 3. ผลกระทบสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการปรับไปแล้วหลายครั้ง

2. สำนักงานกสทช. และ ธปท. ตกลงร่วมกันว่าการส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการมือถือและธนาคารพาณิชย์จะส่งข้อมูลให้กัน เฉพาะข้อมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนว่าหมายเลขใดมีการผูกบัญชีกับธนาคารเท่านั้น เพื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนจะได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปยังสถาบันการเงินให้รับทราบและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ และเป็นฐานข้อมูลระหว่างกัน ฉะนั้น ข้อมูลที่เปิดเผยระหว่างกันจะไม่มีการเปิดเผยหมายเลขบัญชี และในการเป็นข้อมูลจะได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว

ทั้งนี้ กลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2560

3. ธปท. และสำนักงาน กสทช. ได้ตกลงร่วมกันในการอำนวยความสะดวกในการขอรับคืนเงินค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พีเพด) กรณียกเลิกการใช้บริการ จากเดิมที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องคืนเงินที่เหลือในโทรศัพท์ผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือคืนเป็นเช็ค หรือโอนไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่นนั้น ต่อไปจะให้ขอรับเงินคืนได้ผ่านอีวอลเลท (e-wallet)  หรือ บริการพร้อมเพย์ได้ คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งการขอคืนจะไม่จำกัดวงเงิน เหลือเงินบาทเดียวก็ขอคืนได้ภายใน 30 วัน

"ปัจจุบันหมายเลขมือถือพีเพดมีอยู่ประมาณ 90 ล้านเลขหมาย มีเงินค้างที่ประชาชนไม่ขอคืนอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งแต่ละหมายเลขเหลือเงินอยู่น้อยไม่กี่บาทต่อบัญชีทำให้ไม่มีคนมาคืน ทำให้กสทช.กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อพิจารณานำเงินส่วนที่ค้างอยู่โอนเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ยังอยู่ระหว่างให้คณะกฤษฎีกาศึกษารายเอียดของข้อกฎหมาย เพื่อจะได้ทำให้ถูกต้องต่อไป"นายฐากรกล่าว