posttoday

คลังปัดจ่ายค่าซื้อรถเมล์เอ็นจีวี

10 ธันวาคม 2559

คลังเมินข้อเสนอเอกชน ให้จ่ายค่าซื้อรถเมล์เอ็นจีวีก่อนรู้ผลภาษี ชี้เหตุผลฟังไม่ขึ้น

คลังเมินข้อเสนอเอกชน ให้จ่ายค่าซื้อรถเมล์เอ็นจีวีก่อนรู้ผลภาษี ชี้เหตุผลฟังไม่ขึ้น

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป เสนอให้กระทรวงการคลังนำเงินที่ต้อง จ่ายให้บริษัทประมาณ 3,389 ล้านบาท จะมาเป็นเงินประกันรถเมล์เอ็นจีวีคันละ4.8 ล้านบาท เพื่อนำรถออกมาจากท่าเรือแหลมฉบัง ว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีเหตุผล เพราะไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากคู่สัญญาที่ทำไว้นั้น ขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวง การคลัง

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดี กรมศุลกากร กล่าวถึงความคืบหน้า การตรวจสอบรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ว่า กรมศุลกากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ เดินทางไปหารือและตรวจสอบข้อมูล ร่วมกับกรมศุลกากรของประเทศมาเลเซียแล้ว ว่ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวดำเนินการผลิตที่ประเทศมาเลเซีย และเป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (อาฟตา) ตามแบบฟอร์มดี ที่ออกโดยหน่วยงานจากมาเลเซียจริงหรือไม่

นายกุลิศ กล่าวว่า หลังจากนี้คงต้องรอเอกสารและรายละเอียดทั้งหมด ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร โดยกรมศุลกากร จะยึดตามข้อกฎหมายและความถูกต้องทั้งหมด ส่วนการที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป เสนอให้กระทรวงการคลังนำเงินที่ต้อง จ่ายให้บริษัทประมาณ 3,389 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าว เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินประกันรถเมล์เอ็นจีวีคันละ 4.8 ล้านบาท ที่กรมศุลกากร เพื่อนำรถออกมาจากท่าเรือแหลมฉบังนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่นโยบาย แต่กรมศุลกากรมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น

ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบรถเมล์เอ็นจีวีของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ผู้ชนะการประมูล ว่ามีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้กรมศุลกากรและสำนักงานป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตามความผิดและทบทวนโครงการดังกล่าวของ ขสมก. กระทรวงคมนาคม เนื่องจากกรมศุลกากรตรวจสอบรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ที่นำเข้าโดยบริษัทดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาอาฟตา แต่เป็นการนำเข้ารถสินค้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน ผ่านประเทศมาเลเซียแล้วนำเข้ามาในไทย รวมถึงกรมศุลกากรยังตรวจสอบพบว่า มีการนำเข้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่

ภาพประกอบข่าว