posttoday

เตือนรับมือศก.ตกต่ำ

01 ธันวาคม 2559

ธปท.เตือนรัฐและเอกชนเร่งปรับตัวยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน รับมือเศรษฐกิจโลกในภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ต่อเนื่อง

ธปท.เตือนรัฐและเอกชนเร่งปรับตัวยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน รับมือเศรษฐกิจโลกในภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง ต่อเนื่อง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี ธปท. สำนักงานภาคใต้ "ประเทศไทย 4.0" ว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วน 2 สูง คือ ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง และมีผู้ได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวกระจุกตัวในคนบางกลุ่มเท่านั้น

"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกือบ 70% ของประเทศในโลกมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก แม้เราจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในสหรัฐและในสหภาพยุโรปบางประเทศ แต่ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และเปราะบาง และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการที่สหราชอาญาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ที่จะมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของประเทศพัฒนาในช่วงปี 2553-2557 ปรับลดลง 30% ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลดลง 25% การลงทุนเอกชนต่ำ เป็นตัวถ่วงการบริโภคในระบบเศรษฐกิจโลกให้ลดลง นอกจากนี้การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงของธุรกิจและครัวเรือนไม่สามารถลดลงได้เร็ว ธุรกิจก็ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้เร็วตามที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม และรายได้ของประชาชนก็ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้เร็วอย่างที่เคยคาด กำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนส่วนหนึ่งก็ถูกลดทอนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน ส่งผลให้ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ จึงเกิดมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง หลายประเทศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้สถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อ จูงใจให้ภาคเอกชนใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและลงทุนแทนที่จะออมเงิน ส่งผลกระทบให้เกิดการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพราะต้องการ ผลตอบแทนเพิ่ม เงินไหลเข้าไหลออก

"เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ทำให้การกระจายตัวของผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีสายป่านสั้น ผู้ส่งออกเผชิญปัญหากีดกันทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเปราะบาง" นายวิรไท กล่าว

สำหรับแนวทางรับมือทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าสนใจเพียงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสั้น เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดปัจจัยที่เป็นอุปสรรค หรือเป็นต้นทุนแฝงของการทำธุรกิจ เร่งสร้างนวัตกรรม สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย เร่งการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับการยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย