posttoday

บาทปรับทิศเริ่มอ่อนค่าสหรัฐขึ้นดบ.

28 ตุลาคม 2559

ทิศทางเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังเห็นสัญญาณสหรัฐพร้อมขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.นี้

ทิศทางเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังเห็นสัญญาณสหรัฐพร้อมขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.นี้

นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 27 ต.ค. มีทิศทางอ่อนค่าลงอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น อาทิ การขาดดุลการค้าลดลง ยอดขายบ้านเพิ่มขึ้น แต่การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าแรง เพราะตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะการประกาศตัวเลข จีดีพีไตรมาส 3 ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.03 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้าที่ปิดตลาด 34.98 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหว 35.00-35.13 บาท/เหรียญสหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 35.09 บาท/เหรียญสหรัฐ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาพรวมค่าเงินอ่อนค่าลงทั้งภูมิภาคเมื่อเทียบเงินเหรียญสหรัฐ เช่น เงินหยวน เหรียญสิงคโปร์ ริงกิต หลังจากกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐออกมาดี ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ หนุนให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินบาทต่อจากนี้จะกำหนดโดยปัจจัยต่างประเทศมากกว่าภายใน ซึ่งนอกจากปัจจัยหลักจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐแล้ว ยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 8 พ.ย.นี้ ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ความเสี่ยงระบบธนาคารในยุโรปรวมทั้งราคาน้ำมัน

"บาทเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนกลับมาถือเงินดอลลาร์ไว้ ก่อนการประชุมเอฟโอเอ็มซีต้นเดือน พ.ย. แต่การอ่อนค่าไม่แรงนัก เพราะตลาดไม่คิดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ แต่จะเห็นการส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น" นายอมรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน หากฝ่ายใดชนะจะมีผลต่อ ค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างกันของทั้งสองฝ่าย แต่ในภาพรวมทิศทางเงินบาทระยะต่อไป อ่อนค่าลงแน่นอน เพราะทั้งคู่ต่างมี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่ทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยธนาคารมองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ
 
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการการส่งออกปีนี้เหลือ 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% หลังจากมูลค่า ส่งออกสินค้าไตรมาส 3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ 1.2% ส่งผลให้มูลค่า ส่งออกสินค้าของไทย 9 เดือนแรกของปี 2559 หดตัว 0.7% โดยสินค้าส่งออกหลักอย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ยังคงเป็นตัวหนุนให้การส่งออกสินค้าโดยรวมในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ดี ในช่วงที่เหลือของปี 2559 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง