posttoday

ธปท.รับเอ็นพีแอลยังไม่นิ่ง

28 ตุลาคม 2559

ธปท.ชี้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มขยับต่อ หลังไตรมาส 3 กระโดดเป็น 2.89% ของสินเชื่อรวม

ธปท.ชี้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มขยับต่อ หลังไตรมาส 3 กระโดดเป็น 2.89% ของสินเชื่อรวม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า สิ้นเดือน ก.ย. หรือไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังไม่กันสำรอง (Gross NPL) อยู่ที่ 3.94 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.89% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มี 3.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.72% โดยเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 5.36% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 3.61 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.79% ของสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 9.14%

ทั้งนี้ แบ่งเป็น Gross NPL ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 3.89 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.06% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.38 หมื่นล้านบาท หรือ 9.53% และเป็นเอ็นพีแอลของสาขาธนาคารต่างประเทศอีก 4,728 ล้านบาท คิดเป็น 0.52% ของสินเชื่อรวมลดลง 694 ล้านบาท หรือ 12.8%

สำหรับเอ็นพีแอลหลังหักกันสำรอง (Net NPL) ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.84 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.37% ของสินเชื่อรวม จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 1.75 แสนล้านบาท สัดส่วน 1.29% เพิ่มขึ้น 8,895 ล้านบาท หรือ 5.08% และเพิ่มขึ้น 13.47% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1.62 แสนล้านบาท หรือ 1.27% ของสินเชื่อรวม แบ่งเป็น Net NPL ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 1.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.46% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.77% และเป็นของสาขาธนาคารต่างประเทศ  725 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% ลดลง 27.79%

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาสุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินเชื่อหลัก ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการฟื้นตัวที่กระจุกตัวในบางภาคส่วน โดยมีความเป็นไปได้ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลที่ 2.89% น่าจะสูงสุดแล้วในปีนี้ เพราะช่วงปลายปีธนาคารจะมีการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม การที่เอ็นพีแอลกระโดดจาก 2.72% มาอยู่ที่ 2.89% ซึ่งสูงกว่า คาด ทำให้มีแนวโน้มว่าไตรมาสแรกปีหน้า เอ็นพีแอลมีโอกาสจะสูงกว่า 2.89% ได้ เอ็นพีแอลที่มีขณะนี้จึงอาจจะยังไม่ขึ้นไม่สูงสุด โดยรวมแล้วธนาคารน่าจะยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง ทั้งคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไร