posttoday

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยปี60ยังเดินหน้าต่อได้

21 ตุลาคม 2559

ธปท.อนาคตเศรษฐกิจไทยปี60ยังเดินหน้าได้ ยอมรับลงทุนเอกชนโตต่ำ เพราะกำลังซื้อยังน้อยมีส่วนทำให้สินเชื่อไม่โต

ธปท.อนาคตเศรษฐกิจไทยปี60ยังเดินหน้าได้ ยอมรับลงทุนเอกชนโตต่ำ เพราะกำลังซื้อยังน้อยมีส่วนทำให้สินเชื่อไม่โต

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเสวนา"อนาคตเศรษฐกิจไทย 2560(Thailand's Economic Outlook 2017)" ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ เพราะถึงภาคส่งออกสินค้าไม่ดี แต่ก็มีภาคการท่องเที่ยว และแรงการลงทุนจากภาครัฐมาช่วยมาช่วยให้เศรษฐกิจไปได้ เพราะการเบิกจ่ายของรัฐในช่วงที่ผ่านมาทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ การลงทุนโครงการต่างๆก็คืบหน้า บวกกับรัฐบาลมีการเยียวยาประคับประครองในบางจุด ภาพเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องไปได้ ปีนี้คาดว่าจะโต 3.2%

"แต่ต้องยอมรับว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ อาจมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนได้รับผลกระทบบ้าง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจยังดี ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตลาดเงินและตลาดทุนก็มีการปรับตัวรับสถานการณ์ได้ดี ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ" นางรุ่งกล่าว

นางรุ่ง กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่สินเชื่อขยายตัวได้น้อย เพราะภาคธุรกิจบางภาคหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้แทนการใช้สินเชื่อจากธนาคาร ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังน้อยเพราะความต้องการใช้จ่าย(ดีมานด์)ยังขาด ฉะนั้น ถึงมองไปข้างหน้ารัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนโครงสรางพื้นฐานได้ตามแผน และต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยจะต่ำขนาดไหน การลงทุนหรือสินเชื่อก็ยังไม่ได้โตขึ้นมาก และอีกส่วนที่การลงทุนยังโตน้อยเพราะสังคมไทยก้าวเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น ซึ่งธุรกิจในภาคบริการมีการลงทุนในเม็ดเงินที่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เหมือนลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมกับสร้างโรงแรม มันมีการลงทุนที่ต่างกันพอสมควร จึงมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนน้อยลงกว่าอดีตด้วย

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบกระจุกในบางภาคธุรกิจ อาทิ การการท่องเที่ยว คมนาคม เป็นต้น แต่ภาคอื่นๆและการลงทุนยังไม่ฟื้น เห็นได้จากข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ยังชะลอทำให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ต่อเนื่อง บวกกับการเบิกจ่ายภาครัฐแม้ว่าไทยจะทำได้ดีอยู่ที่ประมาณ 70% แต่เทียบกับประเทศอื่นยังถือว่าน้อย

"อีกสาเหตุที่เศรษฐกิจฟื้นได้ช้า เพราะดีมานด์ในตลาดโลกยังไม่กลับมาโตเหมือนเดิม ซึ่งถ้าดูปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไทยเรายังไม่โต คือ ปัจจัยจากการเมือง การคมนาคม และดีมานด์ ที่เป็นอุปสรรคคู่กับไทยเรามานาน ซึ่งมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่โต" นายเกียรติพงศ์กล่าว

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้น้อย เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวต่ำ โดยปี 2558 ที่ผ่านมาโตที่ 4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วน 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ยังไม่โตเลยโดยแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้านั้น ถ้าดูจากภาระหนี้รถยนต์คันแรกของประมาชน ถ้าคิดรถยนต์คันละ 6 แสนบาท ถ้าคิดจาก 1 ล้านคน ก็จะมีหนี้ส่วนนี้อยู่ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังส่วนนี้ถ้าใช้หนี้หมดแล้วกำลังซื้อมันกลับมาได้หรือไม่ มันอยู่ที่ว่าภาคธุรกิจใดจะได้อานิสงค์ อาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือ สินค้าราคาสูง กลุ่มนี้ยอดขายอาจจะกลับมากระเตื้องขึ้นก็ได้

 "ส่วนช่วงเวลาที่หนี้ครัวเรือนจะปลดล็อคได้หรือใช้หนี้หมดแล้วกลับมาได้เมื่อไหร่นั้น ผมว่าอาจจะไม่ใช่ปีหน้า อาจจะทยอยไปหมดในไตรมาส 3-4 ปี 2561ก็ได้ เนื่องจากหนี้จะทยอยหมด ฉะนั้น กำลังซื้อส่วนนี้ที่คาดว่าจะปลดล็อคอาจจะไม่เร็วนัก" นายพชรพจน์กล่าว

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มยอดการค้าปลีกโตต่ำลงมา 2-3 ปีแล้ว  ส่วนข้อมูลไตรมาส 3 ปีนี้โตอยู่ที่ 3.2% คาดว่าปีนี้ทั้งปีภาคค้าปลีกจะโตอยู่ที่ 3-3.2%  ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งเป็น สินค้าคงทน อาทิ วัสดุการก่อสราง เครื่องใช้ไฟฟ้า โตได้น้อยชะลอลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ เฉลี่ยปีนี้โตอยู่ที่ 3% ส่วนสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้ารองเท้า เครื่องประดับ ที่คาดวาจะโตได้ตามการท่องเที่ยว เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 30 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้โตเท่าไร เพราะอาจมีข้อจำกัดด้านภาษี และ สินค้าไม่คงทน อาทิ อาหารเครื่องดิม สินค้ากินใช้หมดไป ส่วนนี้โตประมาณ 2-3% ไม่ได้สูง เพราะกำลังซื้อจากรายได้กลางลงมาล่างยังมีหนี้ครัวเรือนค้างอยู่ แต่รายได้กลางไปถึงรายได้ระดับบนยังโตได้ดี ฉะนั้น หากรัฐบาลจะกระตุ้นควรกระตุ้นกลุ่มนี้

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวว่า การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งการประมูลทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟรางคู่ หรือถนนใหม่ๆ จะช่วยให้เกิดการกระจายเงินทุนออกไปยังธุรกิจรายย่อย และสร้างงานเพิ่มขึ้นเป็นแรงกระตุ้นได้ เท่าที่ดูการประมูลโครงการรัฐในปีนี้ออกไปแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท และอาจจะไปได้ถึง 2 แสนล้านบาท แต่เราจะไม่เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปีนี้ แต่จะไปเริ่มเห็นการกระจายเม็ดเงิน และกิจกรรมที่คึกคักขึ้นในต้นปีหน้า จะชัดเจนประมาณกลางปีหน้า แต่ในส่วนของการก่อสร้างในส่วนของอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นด้วน แต่อาจจะไม่ดีเท่ากับโครงการรัฐ

ด้านนางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. กล่าวว่า ภาวะกำลังซื้อของโลก และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการค้นพบผลิตภัณฑ์น้ำมันเซลล์ออยทำให้ปีนี้ราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของภาคธุรกิจอีกทางหนึ่ง เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของทุกธุรกิจ และในส่วนของ ปตท.ได้ลดและยกเลิกโครงการลงทุนใหม่ไปจำนวนมาก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่ชะลอการลงทุนในขณะนี้ แต่ยังหวังว่าในปีหน้าการลงทุนของเอกชนอาจจะเริ่มขยับตัวดีขึ้น