posttoday

"ฟินเทค"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย

10 ตุลาคม 2559

ฟินเทคเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในหลายภาคส่วนที่สำคัญ

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีกับธุรกรรมการเงิน (ฟินเทค) ในเวทีการประชุม ACD Connect Business Forum 2016 เบเนดิกซ์ โนเล็นส์ ผู้อำนวยการอาวุโสและประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหารความเสี่ยงวางแผนกลยุทธ์และความมั่นคงของฮ่องกง (SFC Hongkong-China) กล่าวว่า ฟินเทคเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในหลายภาคส่วนที่สำคัญ ทั้งสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี อี-คอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ รวมถึงกิจการนำเข้า-ส่งออก อีกทั้งยังเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของวิธีชำระเงินที่แตกต่างกันออกไป ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายและสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพด้านประชากรอย่าง จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีแนวโน้มที่ตลาดฟินเทคจะยังมีความต้องการอีกมากในอนาคต

เทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันส่งผลให้รัฐบาล รวมถึงสถาบันทางการเงินของประเทศมีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลในด้านความปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์ ตลอดจนกรอบกฎหมายข้อบังคับทางธุรกรรมที่ต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาดอย่างที่ผ่านมา ทั้งการหลอกลวงทางธุรกรรมและการเจาะข้อมูลระบบฟินเทค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในประเทศตลอดจนคู่ค้าหรือนักลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องส่งเสริมการใช้ระบบ Identity System เพื่อระบุเอกลักษณ์ของบุคคลเพื่อป้องกันมิจฉาชีพตลอดจนง่ายต่อการบังคับคดีหากเกิดข้อผิดพลาด เนื่องจากเทคโนโลยีทางการเงินนั้นมีความเสี่ยงสูงแม้จะมาพร้อมกับความสะดวกสบาย นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องพัฒนาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Eco System) ให้พร้อมสำหรับฟินเทคและผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะสตาร์ทอัพให้เกิดความชัดเจนระหว่าง Private Sector และ Public Sector อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายย่อยเองต้องมีความรับผิดชอบเพียงพอที่จะดูแลแพลตฟอร์มการชำระเงิน รวมถึงระบบ e-Payment ของในแต่ละกิจการให้มีความหลากหลายและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ด้าน รอย เตียว ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมฟินเทคและเทคโนโลยี Monetary Authority Singapore (MAS) จากสิงคโปร์ กล่าวว่า ฟินเทคเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการรายย่อยในยุคสมัยใหม่ที่ช่องทางชำระมีส่วนในการตัดสินใจของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันทางการเงินเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ตลอดจนเพิ่มทางเลือกใหม่ในการให้บริการกับประชาชน ดังนั้นฟินเทคจึงเป็นสะพานเชื่อมโยงความสำเร็จระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันทางการเงินให้เติบโตไปด้วยกันในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศประชากรจำนวนมากอย่าง อินเดีย จีน และสหรัฐ ซึ่งมีความต้องการทางธุรกรรมและพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคที่หลากหลาย

นอกจากนี้ แต่ละชาติเอเชียอาจใช้โมเดลหรือต้นแบบการพัฒนาฟินเทคจากประเทศที่มีความพร้อมและประสบการณ์อย่างสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อเชื่อมโยงความรู้และโซลูชั่นทางการเงิน เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่รับประสบการณ์และเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายสถาบันทางการเงินทั่วโลก ประกอบกับฟินเทคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอยู่เสมอ ทำให้การวางแผนรับมือร่วมกันของแต่ละประเทศนั้นมีความสำคัญ นอกจากนี้ควรตั้ง Fintech Community ในแต่ละชาติเอเชียเพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลและนวัตกรรมทางเงินร่วมกัน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านฟินเทคระหว่างกันในอนาคต ทั้งยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกอบรายย่อยในการพัฒนารู ปแบบฟินเทคให้สอดคล้องกันแต่ละตลาดของประเทศอีกด้วย

ขณะที่ แทร์ สุไลมาน ซีอีโอ บริษัท มันนี่ดีไซน์ ของประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การพัฒนาฟินเทคร่วมกันเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินไปโดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่ประชากรส่วนใหญ่มีศาสนาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงส่งผลให้พฤติกรรมและแนวทางการจับจ่ายไม่แตกต่างกันมากนัก ประกอบกับการขยายตัวของประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้นยังส่งผลให้ผู้พัฒนาในเอเชียสามารถร่วมกันแสวงหาแนวทางบูรณาการฟินเทคเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละชาติเอเชียร่วมกันได้อีกด้วย อย่างเช่น ตลาดอินโดนีเซีย ตลาดฟิลิปปินส์ ตลาดบรูไน และตลาดอินเดีย

เบเนดิกซ์ โนเล็นส์ กล่าวถึงหัวข้อ Driving Asian Economies with Fintech ในงาน ACD Connect Business Forum 2016 ว่า ความท้าทายสำคัญของฟินเทค คือ ความตระหนักรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอ จึงไม่ตัดสินใจหันมาใช้ธุรกรรมรูปแบบใหม่ ประกอบกับจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเอเชียยังมีเพียงร้อยละ 50 นอกจากนี้การปรับปรุงกรอบกฎหมายและข้อบังคับเพื่อรองรับฟินเทคในแต่ละประเทศยังคงค่อยเป็นค่อยไป ขาดความชัดเจน และเอกภาพของแนวทางการพัฒนาร่วมกัน

ขณะที่ แทร์ สุไลมาน กล่าวว่า ความท้าทายของระบบฟินเทค คือ ระบบโลจิสติกส์การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละชาติให้สอดรับกับการขยายตัวเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต เพราะเอเชียเป็นฐานผลิตและส่งออกสินค้าที่สำคัญ อีกทั้งระบบโลจิสติกส์ที่ดียังสามารถกระจายโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกด้วย

ข้อสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ทวีปเอเชียยังคงต้องการเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกราว 2.8 ล้านล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ตลาดโครงสร้างพื้นฐานจะขยายตัวราว 7% ต่อปีในอนาคต ทั้งนี้ในทวีปเอเชียยังคงมีประชากรกว่า 1,800 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทาง ขณะที่ประชากรอีก 800 ล้านคน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมถึงประชากรอีก 600 ล้านคน ที่ยังไม่มีแหล่งน้ำสะอาดเพื่อบริโภค

"ฟินเทค"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย

นายกฯทวิภาคี อิหร่าน-กัมพูชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือโอกาสที่ผู้นำหลายประเทศเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เจรจาทวิภาคีกับ ฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน และ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี ฮัสซัน นับเป็นการเยือนระดับสูงที่สุดครั้งแรกของฝ่ายอิหร่านในรอบหลายปี โดยนายกฯ ระบุว่า ไทยพร้อมร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในทุกระดับ อิหร่านยังแสดงความประสงค์ที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทยรอบใหม่

สำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ในปีนี้ สายการบิน Thai AirAsia X และการบินไทย ได้เปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-กรุงเตหะราน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ เสนอให้ 2 ประเทศ พิจารณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันแบบ Package เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มมูลค่าในการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ 1 การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีในการหารือและเพิ่มพูนมูลค่าทางการค้าและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพลังงาน ระหว่างกัน

ด้านการเจรจากับนายกรัฐมนตรีกัมพูชานั้น ผู้นำทั้งสองประเทศ ได้แสดงความยินดีที่ทางรถไฟของไทยและกัมพูชาบริเวณสะพานรถไฟ อรัญประเทศ-ปอยเปต ได้เชื่อมต่อกันแล้ว และกำชับให้หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายเร่งจัดทำร่างความตกลงเดินรถไฟร่วมให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถเดินรถไฟระหว่างกันได้ ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนหัวรถจักรหรือตู้โดยสารที่ใช้การให้แก่ฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการ

ด้านการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน (จ.สระแก้ว)-สตึงบท (จังหวัดบันเตียเมียนเจย) จะสามารถเปิดทำการได้ภายในปี 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการหารือเรื่องแรงงานต่างด้าวและการร่วมมือทางนวัตกรรมทางการเกษตรด้วย