posttoday

แบงก์ชงใช้ "เสียง" ทำธุรกรรมการเงิน

02 ตุลาคม 2559

ธปท.แย้ม แบงก์พาณิชย์ขอใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ คือ เสียง เพื่อพิสูจน์ตัวตน หวังเพิ่มความสะดวกลูกค้าและป้องกันภัยการเงิน

ธปท.แย้ม แบงก์พาณิชย์ขอใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ คือ เสียง เพื่อพิสูจน์ตัวตน หวังเพิ่มความสะดวกลูกค้าและป้องกันภัยการเงิน

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ระบบการให้บริการทางการเงินของไทยอาจจะเริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีทางชีวภาพ (Biometric) มาใช้ในการยืนยันตัวตนของลูกค้าผู้ใช้บริการ เนื่องจากระบบดังกล่าวมีความปลอดภัย และช่วยลดปัญหาการโจรกรรมข้อมูลลูกค้ารายอื่นแล้วนำไปสร้างความเสียหายได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ล่าสุดเริ่มมีสาขาธนาคารต่างประเทศ อาทิ ซิตี้แบงก์ได้ยื่นขออนุญาตเปิดให้บริการโดยขอให้ลูกค้าใช้เสียง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนเพื่อให้ ธปท.พิจารณาแล้ว ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้ระบบดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย

“การมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงของลูกค้า (KYC) หากสามารถมีทางเลือกอื่นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า เพื่อทางเลือกจากการใช้ระบบคอลเซ็นเตอร์ในปัจจุบันได้ และยังช่วยลดปัญหาการอ้างตัวเป็นลูกค้าคนอื่นได้ สถาบันการเงินเองก็ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ทำให้บริการได้รวดเร็วขึ้น แถมจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการ แต่เรื่องเหล่านี้อาจจะยังเป็นเรื่องใหม่เราต้องดูให้รอบคอบและมีกระบวนการทำงาน การใช้เทคโนโลยีให้รัดกุม” แหล่งข่าว ธปท.ระบุ

ขณะที่สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.ได้ออกประกาศเพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินปฏิบัติ ในเรื่องการตั้งรหัสผ่านใหม่ (Reset Password) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพื่อปิดช่องโหว่จากมิจฉาชีพที่อ้างตัวมาขอรหัสผ่านใหม่ผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเข้าถึงบัญชีการทำธุรกรรมออนไลน์ของลูกค้าสร้างความเสียหายไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนั้น ได้ให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าในการตั้งรหัสผ่านใหม่ผ่านคอลเซ็นเตอร์ เช่น การตั้งคำถามเพื่อพิสูจน์ตัวตน ควรเป็นคำถามที่ยากต่อการคาดเดาและสถาบันการเงินควรใช้ข้อมูลประเภทอื่นในการพิสูจน์ตัวตนควบคู่กับการตั้งคำถามด้วย เช่น ใช้รหัสกับระบบตอบรับอัตโนมัติ (MR) ใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ (Biometric) อาทิ การใช้ใบหน้า เสียง ม่านตา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีคนร้ายได้ใช้วิธีการติดต่อขอเปลี่ยนซิมโทรศัพท์มือถือที่ร้านทรูช็อป โดยใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชน จากนั้นโทรศัพท์เปลี่ยนรหัสแอพพลิเคชั่น K-Mobile Banking ของเจ้าของบัญชีเงินฝาก และโอนเงินออกไปเกือบ 1 ล้านบาท ทำให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือมีการประชุมหารือตื่นตัวการออกมาตรการเข้มงวดมากขึ้น