posttoday

ไฟเขียวคลังแก้หนี้ไอแบงก์

28 กันยายน 2559

ครม.ไฟเขียวคลังตั้ง เอเอ็มซีรับโอนหนี้เน่าไอแบงก์ พ่วงเพิ่มทุน 2,500 ล้าน

ครม.ไฟเขียวคลังตั้ง เอเอ็มซีรับโอนหนี้เน่าไอแบงก์ พ่วงเพิ่มทุน 2,500 ล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงการคลังจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีเอฟ) ที่ไม่ใช่มุสลิมประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 43.40% ของสินเชื่อรวมของไอแบงก์มาบริหารจัดการ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นเต็ม 100% และมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้กำกับดูแล

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพิ่มทุนให้ ไอแบงก์อีกจำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อไปดำเนินการเสริมสภาพคล่องของธนาคาร ในระหว่างที่ได้มีการจัดตั้งเอเอ็มซีโอนหนี้มาบริหาร

ทั้งนี้ การโอนหนี้เอ็นพีเอฟที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งหมดมาเอเอ็มซี เพื่อให้สิทธิ ในการบริหารหลักประกัน ปรับโครง สร้างหนี้ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และยังทำให้ไอแบงก์เกิดความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันไอแบงก์มีเอ็นพีเอฟ หรือ หนี้เสียเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารบริหารได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งยังเป็นการ ช่วยให้พันธมิตรผู้ที่จะเข้ามาร่วมทุน รายใหม่ เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนส่วนนี้ด้วย

สำหรับหนี้เอ็นพีเอฟของไอแบงก์ทั้งหมด ปัจจุบันมีอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้เอ็นพีเอฟในส่วนของลูกหนี้เป็นชาวมุสลิมกว่า 3,000 ล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าไม่อยากให้นำเสนอมากนัก เพราะมีเรื่องศาสนาและมีความซับซ้อน ซึ่งต้องการให้ดำเนินการแก้ไขในส่วนของปัญหาที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดดีกว่า

"การแยกส่วนของหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกัน เพื่อไม่ให้ส่วนของหนี้เอ็นพีเอฟกินส่วนของทุนไอแบงก์ เมื่อดึงเอ็นพีเอฟออกไปเอเอ็มซีแล้ว จะทำให้ธนาคารมีฐานสินเชื่อคงเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวสามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อ หรืออาจหาผู้ร่วมทุนเข้ามาใหม่" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ไอแบงก์มีแผนที่จะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ารายใหญ่ 2 กลุ่ม คิดเป็นยอดหนี้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะส่งผลให้เอ็นพีเอฟคงค้างต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.นี้