posttoday

"ออมสิน" กุมขมับแก้หนี้ครู

25 กรกฎาคม 2559

แก้หนี้ครูไม่คืบ ออมสินยังเซ็นเอ็มโอยูไม่ได้ เจอ สกสค.ใส่ชื่อลูกหนี้ดีมาเข้าโครงการ หวังได้ลดดอกเบี้ยเหลือ 4% ตีกลับไปทบทวนข้อเสนอใหม่ ขอให้เน้นแก้หนี้เสียครูก่อน

แก้หนี้ครูไม่คืบ ออมสินยังเซ็นเอ็มโอยูไม่ได้ เจอ สกสค.ใส่ชื่อลูกหนี้ดีมาเข้าโครงการ หวังได้ลดดอกเบี้ยเหลือ 4% ตีกลับไปทบทวนข้อเสนอใหม่ ขอให้เน้นแก้หนี้เสียครูก่อน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการรอลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างธนาคารออมสินกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยังไม่สามารถลงนามในเอ็มโอยู เนื่องจากทาง สกสค.ได้ทำข้อเสนอผู้ที่เข้าร่วมโครงการแยกออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกต้องการให้ลูกหนี้ครู ซึ่งเป็นลูกหนี้ปกติเข้าโครงการก่อน หลังจากนั้นจึงจะทยอยส่งลูกหนี้ครูที่มีภาระหนี้สินค้างชำระกับธนาคารเข้าโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินพิจารณาแล้วเห็นว่าดำเนินการตามข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องการให้โครงการนี้ออกมาเพื่อแก้หนี้เสียของครูเป็นอันดับแรกก่อน จึงขอให้ทาง สกสค.กลับไปทบทวนข้อเสนอมาใหม่ ทำให้การลงนามในบันทึกข้อตกลงต้องเลื่อนออกไป

สำหรับมติ ครม. เมื่อเดือน ก.พ. 2559 ได้อนุมัติให้ธนาคารออมสินปล่อยวงเงินสินเชื่อใหม่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการลดภาระหนี้ โดยใช้เงินทายาทที่จะได้รับในอนาคตเมื่อผู้กู้เสียชีวิตมาใช้ค้ำประกัน อาทิ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำมาขอเงินสินเชื่อใหม่ เพื่อลดภาระหนี้หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการนี้อัตราต่ำกว่าปกติ หรือจากเดิมปีละ 5.85-6.7% เหลือปีละ 4% เพื่อลดภาระผ่อนชำระหนี้ให้กับข้าราชการครูลงที่อยู่ในข่ายมีหนี้ค้างชำระกว่า 2.83 แสนราย ช่วยลดภาระหนี้ได้เฉลี่ยรายละ 3-6 แสนบาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลงเดือนละ 2,000-4,000 บาท หรือบางรายก็สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ล่าสุดธนาคารออมสินมีหนี้สินครูกว่า 4 แสนราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครูราว 5 แสนล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ยอดหนี้เสียของกลุ่มครูได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 2,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เมื่อคิดเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบของธนาคารถือว่าหนี้ครูเป็นเอ็นพีแอลไม่ถึง 1% และหากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เชื่อว่าจะมีลูกหนี้รอตกชั้นเพิ่มขึ้นอีกนับหมื่นราย

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอที่ สกสค.เสนอมานั้น ทั้งธนาคารออมสินและกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการเอาลูกหนี้มาขอลดดอกเบี้ยเพิ่ม ส่วนลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ไม่ยอมเข้าโครงการเพราะทายาทไม่ยอมเซ็นยินยอมให้นำเงินในอนาคตมาค้ำประกันหรือหักชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าที่ผ่านมาครูมีหนี้ในระบบสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินกู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและแหล่งกู้อื่น 7 แสนล้านบาท หนี้ที่กู้กับธนาคารออมสินผ่านทางโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) รวม 7 โครงการของ สกสค. รวม 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.7 แสนราย ซึ่งยังไม่นับถึงหนี้นอกระบบ ขณะที่เครือข่ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤต ระบุว่าหากรวมกับหนี้สินนอกระบบแล้ว คาดว่าครูทั้งประเทศน่าจะมีหนี้รวมกันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท