posttoday

ทุกแบงก์ยกเลิกบริการโอนเงินข้ามเขตผ่านบริการ"พร้อมเพย์"

15 มิถุนายน 2559

ธปท. – สมาคมธนาคารไทย – ธนาคารรัฐ ประกาศความพร้อมลงทะเบียนเอนี่ไอดี ภายใต้เชื่อ “พร้อมเพย์” เริ่ม 15 ก.ค.นี้ เลิกคิดค่าบริการข้ามเขต และข้ามธนาคาร โอนเงินครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ

ธปท. – สมาคมธนาคารไทย – ธนาคารรัฐ ประกาศความพร้อมลงทะเบียนเอนี่ไอดี ภายใต้เชื่อ “พร้อมเพย์” เริ่ม 15 ก.ค.นี้ เลิกคิดค่าบริการข้ามเขต และข้ามธนาคาร โอนเงินครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ

วันที่ 15 มิ.ย.  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมกับสมาคมธนาคารไทยที่มีสมาชิกเป็นธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 ที่รับเงินฝาก คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมกันประกาศความพร้อมในการเปิดให้บริการโครงการระบบการชำระเงินแบบเอนี่ ไอดี (Any ID) ซึ่งเป็นการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ภายใต้ชื่อ ”พร้อมเพย์ –PromptPay” ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 15 ก.ค.2559 นี้เป็นต้นไป ตามแผนยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชั่นแนล อี เพย์เม้นท์) เพื่อพัฒนาระบบชำระเงินและลดต้นทุนการใช้เงินสด ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า พร้อมเพย์เป็นบริการที่จะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และ/หรือเลขประจำตัวประชาชนแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปก่อน ส่วนในอนาคตจะขยายไปนิติบุคคลต่อไป และในอนาคตหน่วยงานภาครัฐจะสามารถโอนเงินสวัสดิการ เงินช่วยเหลือ และเงินคืนภาษีให้กับประชาชนผ่านบริการพร้อมเพย์ได้ด้วย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า บริการพร้อมเพย์ เป็นบริการรับโอนเงินแบบใหม่ ที่มีการผูกบัญชีของผู้รับเงินโอนกับเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ผู้โอนเงินสามารถโอนเงินให้ผู้รับโดยไม่ต้องระบุธนาคารและเลขที่บัญชีของผู้รับโอน เพียงระบุเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนที่ผูกไว้ก็สามารถทำธุรกรรมได้ ทำให้สะดวกในการโอนและรับโอนเงิน ไม่ต้องจำเลขที่บัญชี และผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลบัญชีของตน มีหลักฐานการโอนเงินในระบบชัดเจน และลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสด

สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ต้องเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จะลงทะเบียน  เลือกบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวัน เป็นบัญชีเดี่ยว (ไม่ใช่บัญชีร่วม) ที่จะใช้เป็นบัญชีหลักในการทำธุรกรรมโอนและรับโอน เพื่อนำมาผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือภายใต้บริการพร้อมเพย์ โดยบัญชีธนาคารที่นำมาลงทะเบียน 1 บัญชี จะมีหมายเลข หรือ ID เพื่อการผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์ ได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน 1 เบอร์ และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ทั้งนี้ หมายเลข หรือ ID ที่นำมาผูกนั้นจะต้องไม่เคยผูกกับบัญชีใดมาก่อน โดยธนาคารบางแห่งจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ก่อนตั้งแต่ 1 ก.ค.ปีนี้เลย แต่ทั่วประเทศพร้อมลงละเบียนได้ 15 ก.ค.นี้เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน

“ลูกค้าที่เลือกใช้พร้อมเพย์จะได้รับความสะดวก จากการที่ไม่ต้องสอบถามบัญชีธนาคารของผู้รับโอน การคิดค่าธรรมเนียมของพร้อมเพย์จึงไม่มีการแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร แต่จะอ้างอิงวงเงินในการโอนแต่ละครั้งเป็นหลัก บริการพร้อมเพย์จึงมีโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมที่แตกต่างจากบริการโอนเงินรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ดังนี้ วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ วงเงินมากกว่า 5,000 – 30,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ วงเงินมากกว่า 30,000 – 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ และวงเงินมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ “นายปรีดีกล่าว

ทั้งนี้ การให้บริการพร้อมเพย์ จะเริ่มให้บริการรับโอนเงินระหว่างประชาชนถึงประชาชนด้วยกันได้ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนต.ค. 2559 นี้ จากนั้นจะขยายไปสู่บริการธุรกรรมอื่น อาทิ การจ่ายบิลต่าง ๆ ต่อไป