posttoday

ชงครม.ลดหย่อนภาษีลงทุน

31 พฤษภาคม 2559

คลังเสนอ ครม.วันนี้ ปรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้โครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มลงทุนปีนี้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

คลังเสนอ ครม.วันนี้ ปรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้โครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มลงทุนปีนี้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 พ.ค. 2559 กระทรวงการคลังจะเสนอปรับปรุงมาตรการกระตุ้นให้เอกชนลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้เป็นโครงการลงทุนทั้งหมดให้เสร็จ ภายในปีนี้ ถึงได้สิทธิหักลดหย่อนภาษี 2 เท่า เป็นโครงการที่เริ่มลงทุนในปี 2559 แต่ไม่จำเป็นต้องเสร็จภายในปีเดียว ก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อแก้ไขปัญหาเอกชนยังไม่ลงทุนเพราะไม่สามารถใช้มาตรการลดหย่อนได้

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมาย 97% และให้ติดตามการเบิกจ่ายรายไตรมาสของหน่วยงานต่างๆ ให้ได้ตามเป้า เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 3.3% โดยไตรมาสแรกขยายตัวแล้ว 3.2% คาดว่าไตรมาส 2/2559 จะขยายตัวได้ไม่มากกว่าไตรมาสแรก และไตรมาส 3 จะขยายตัวได้มากสุดของปี

ทางด้านภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.นี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 3.2% โดยเศรษฐกิจเดือน เม.ย.ขยายตัวได้จากการบริโภคจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ขยายตัว 2.5% ในจำนวนนี้เป็นแวตที่เก็บจากการบริโภคขยายตัวได้ถึง 6.2% แต่แวตที่เก็บจากการนำเข้ายังติดลบ 3.6%

นอกจากนี้ เมื่อดูจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัว 2.9% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางพารามีราคาดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงให้กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 2.7% ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.ยังขยายตัวได้จากการใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวสูง 16.8% ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมา หดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี 8.9%

นายกฤษฎา กล่าวว่า สศค.ได้ทำ การสำรวจเศรษฐกิจรายภาคเดือน เม.ย. 2559 ยังพบว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

สำหรับการบริโภคสินค้าและบริการของภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีการ หดตัวของการบริโภคสินค้าคงทน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี