posttoday

แบงก์เปิดศึกชิงอี-เพย์เมนต์

31 พฤษภาคม 2559

หวังลูกค้าเลือกเป็นบัญชีหลักเริ่มเปิดลงทะเบียน15ก.ค.นี้

หวังลูกค้าเลือกเป็นบัญชีหลักเริ่มเปิดลงทะเบียน15ก.ค.นี้

ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เปิดให้ประชาชนทั้งประเทศมาลงทะเบียน อี-เพย์เมนต์ โดยจะต้องนำเอาหมายเลขบัตรประชาชน (Any ID) หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และบัญชีเงินฝากของธนาคาร ผูกกันไว้เพื่อใช้ในการรับโอนเงินจากรัฐโดยอัตโนมัติ

การลงทะเบียนดังกล่าวทำเพื่อรองรับระบบการชาระเงินแห่งชาติ (เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์) โดยพยายามให้เกิดการชาระราคาทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเงินสดเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยวิธีนี้การพัฒนาประเทศจะเป็น Free Market คือ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นันแบงก์) พัฒนาทางเข้า-ออกตามอิสระว่าเชื่อมต่อโมบายแบงก์ อี-วอลเลต อีเมล หรือเลขที่บ้าน หมายเลขมือถือ ซึ่งทาง Switching จะส่งต่อข้อมูลไปปลายทาง

แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายเริ่มแย่งชิงกันเป็นบัญชีหลักที่ลูกค้าจะนำไปลงทะเบียนคู่กับ Any ID ซึ่งจะเป็นการลงทะเบียนด้วยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ในระบบรวม 76,252,663 บัญชี แต่ประชาชน 1 คน อาจมีบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์มากกว่า 1 บัญชี และมากกว่า 1 ธนาคาร ดังนั้นธนาคารใดที่มีลูกค้า ผูกบัญชีมากที่สุดก็จะได้เปรียบในระยะยาว ทั้งเรื่องของสภาพคล่องและค่าธรรมเนียม

"หลักการเลือกบัญชีเงินฝากที่จะไปผูกกับหมายเลขโทรศัพท์และเลขที่บัตรประชาชน ลูกค้าควรจะคิดถึงความสะดวกของตัวเองก่อน เพื่อกันความสับสนอาจจะแยกบัญชีที่ผูกเป็นอี-เพย์เมนต์เปิดเป็นบัญชีใหม่ออกมาจากบัญชีเงินเดือน หรือบัญชีเงินออม" แหล่งข่าวเปิดเผย

สำหรับการดำเนินการนี้อาจมีเรื่องความปลอดภัยที่ต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องไปหารือกับเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น เรื่องของการออกซิมโทรศัพท์ใหม่ กรณีซิม หายจะทำอย่างไรให้การออกซิมใหม่ออกให้กับลูกค้าตัวจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปสวมรอยออกซิมใหม่แล้วขโมยข้อมูลไปโอนย้ายเงินจากบัญชีลูกค้าไปสร้างความเสียหาย ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังมีเรื่องการนำบัตรประชาชนปลอมมาใช้ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ต้องวางระบบอุดความเสี่ยงให้หมด

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทะเบียนอี-เพย์เมนต์วันที่ 15 ก.ค. 2559 นอกจากแบงก์รัฐเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว ยังให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อมดำเนินการผูกเลขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อใช้ในการรับโอนเงินแทนการใช้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร หากธนาคารพาณิชย์ใดมีความพร้อมก็ออกบัตรกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้กับประชาชนที่มาลงทะเบียนได้เลย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมใหม่ให้สมดุล เพื่อให้อัตราค่าธรรมเนียมสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้นคือ ให้ต้นทุนบริการถูกก็ต้องคิดค่าบริการถูก ต้นทุนแพงก็คิดแพง ไม่ใช่ต้นทุนค่าบริการถูกแต่คิดแพง และต้นทุนบริการแพงแต่คิดถูกหรือบริการฟรี ซึ่งขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาต้องขอเวลาในการดูสักระยะ เนื่องจากต้นทุนการให้บริการทางการเงินแต่ละเรื่องยังพันกันอยู่ ต้องค่อยๆ ทำ อย่างไรก็ดี ธปท.จะส่งเสริมให้คนใช้ระบบการชาระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อลดการใช้เงินสดลง

 ด้านแหล่งข่าวสายระบบชาระเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากลงทะเบียน Any ID และมีผลใช้ได้จริงประมาณเดือน ต.ค.ปีนี้ บวกกับการยกระดับให้มาใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดที่ใช้กดเงินสดได้และใช้รูดซื้อสินค้าได้ จากเดิมที่ใช้กดเงินสดอย่างเดียวเริ่มมีผล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะทำให้การโอนเงินข้ามเขตระหว่างกันสะดวกมากขึ้น และเอาไปซื้อของได้ง่ายขึ้นเหมือนใช้เงินสด เพราะจะมีเครื่องรับบัตร (อีดีซี) ที่แพร่หลายขึ้น ความจำเป็นในการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มจะลดลงเอง ซึ่งถ้าสถาบันการเงินจะแข่งขันให้คนใช้อยู่ก็ต้องลดค่าธรรมเนียมลง เช่นเดียวกันการใช้บริการผ่านสาขาที่เคาน์เตอร์ก็จะลดลงเองโดยปริยาย เพราะถ้าระบบการโอนหรือชาระเงินทางอื่นสะดวก ปลอดภัย และค่าบริการถูกกว่า ประชาชนจะทยอยหันไปใช้มากขึ้น การเดินไปที่สาขาธนาคารจะลดลงเอง

ด้าน นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธปท. กล่าวว่า สาเหตุของการพิมพ์ธนบัตร ใหม่ลดลงค่อนข้างมากในแต่ละปี เนื่อง จากประชาชนใช้ระบบการชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามการส่งเสริมของรัฐบาล

"ขณะนี้เราพิมพ์ธนบัตรเพิ่มประมาณ 2,000 ล้านฉบับ/ปี ในทุกชนิดราคาจากปกติต้องพิมพ์ธนบัตรมากกว่า 2,000 ล้านฉบับขึ้นไป ซึ่งทยอยลดลงมา 2-3 ปีแล้ว และแนวโน้มคงลดลงเรื่อยๆ ถ้าคนหันไปใช้การชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่วนเรื่องการปลอมแปลงธนบัตรปัจจุบันก็ลดลงมากขึ้น เหลือพบการปลอมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 ฉบับ/ธนบัตรหมุนเวียน 1,000 ฉบับ" นายวรพร กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเงินสดหมุนเวียน อยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.53 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเหรียญกษาปณ์ 6.1 หมื่นล้านบาท และธนบัตรอีกประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท