posttoday

ออมสินลุยสตาร์ทอัพ

05 พฤษภาคม 2559

ออมสินรับลูกนโยบายรัฐ เล็งเปิดตัวสายงานใหม่หนุนปั้นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีลุยตั้งธุรกิจได้

ออมสินรับลูกนโยบายรัฐ เล็งเปิดตัวสายงานใหม่หนุนปั้นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีลุยตั้งธุรกิจได้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินการหลายโครงการภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท กองทุนร่วมลงทุนกิจการเอสเอ็มอี โครงการบูรณาการวงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดได้อนุมัติร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีไปแล้ว 2 ราย วงเงิน 60 ล้านบาท และอยู่ระหว่างหากับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีอีก 3 กองทุน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ธนาคารออมสินจึงเตรียมจะตั้งสายงานใหม่ขึ้นมาดูแลกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อดูแลผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเป็นแผนธุรกิจจนประกอบธุรกิจได้จริง

นายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างขออนุญาตกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดสายงานเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ใน 1-2 เดือนนี้ โดยที่ต้องตั้งเป็นสายงานใหม่เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องการการดูแลและสนับสนุนแตกต่างจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มทำธุรกิจไปแล้ว ดังนั้นสายงานใหม่นี้จะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มงาน คือกลุ่มงานค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มงานพัฒนาผู้ประกอบการ และกลุ่มสินเชื่อ

สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพเป้าหมายของออมสิน คือ สตาร์ทอัพในกิจการเอสเอ็มอีทั่วไป ทั้งนี้เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มส่วนใหญ่ของผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีสูง หรือกลุ่มที่ประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการเงิน (FinTech) ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่มากนัก โอกาสจะไปสู่การทำธุรกิจก็ไม่สูง

อย่างไรก็ตาม การเริ่มดำเนินการสายงานใหม่จะเริ่มที่โครงการที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี คือจากกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ ซึ่งขณะนี้เริ่มเปิดให้ส่งแผนเข้าประกวดแล้ว ณ สิ้นเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีการเสนอเข้ามาราว 1,600 ราย หลังจากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือ 100 ราย ซึ่งส่วนที่ต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมาคือจะทำการบ่มเพาะ (Incubator) ผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบ โดยจะให้ความรู้ทั้งด้านการบริหาร การผลิต ทำบัญชี ความรู้การตลาด จากนั้นคัดเลือกเหลือ 10 ราย และเลือกผู้ชนะเลิศ 1 ราย

“กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการดูแลให้คำปรึกษาจนสามารถประกอบธุรกิจได้จริง เมื่อเกิดธุรกิจขึ้นหากต้องการใช้เงินขึ้นอยู่กับสตาร์ทอัพจะเลือกใช้สินเชื่อกับธนาคาร หรือจะเลือกการร่วมลงทุน โดยจะดำเนินการรูปแบบนี้กับสตาร์ทอัพที่เข้ามาใช้บริการกับธนาคาร” นายวิทัย กล่าว