posttoday

ธกส.เพิ่มสำรอง586%

30 เมษายน 2559

ธ.ก.ส. ตั้งสำรองเพิ่มเป็น กว่า 586% รับมือความเสี่ยงลูกหนี้จากภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

 ธ.ก.ส. ตั้งสำรองเพิ่มเป็น กว่า 586% รับมือความเสี่ยงลูกหนี้จากภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลดำเนินงานในปีบัญชี 2558 (วันที่ 1 เม.ย. 2558-31 มี.ค. 2559) ว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มอีก 1.9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินที่ตั้งสำรองเพื่อรองรับการจัดชั้นหนี้ตามมาตรฐานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำรองตามความจำเป็นตามที่ได้ขออนุมัติเพิ่มเติมจากคณะกรรมการ กระทรวงการคลัง และ ธปท. แล้วมีวงเงินทั้งสิ้นกว่า 2.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 586% ของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล

ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องช่วง 2 ปี จนเกษตรกรต้องงดทำนาปรัง ประกอบกับธนาคารได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบให้ลูกค้าหลายโครงการ เช่น ลดภาระดอกเบี้ย และขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 24 เดือน จึงเห็นว่าควรมีการตั้งสำรองเพิ่มในส่วนของลูกหนี้เหล่านี้อีก 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีบัญชีก่อนหน้าที่มีการทยอยตั้งสำรองมาแล้วกว่า 2.1 แสนล้านบาท และพอ ธปท.เข้ามาตรวจสอบฐานะการเงินก็เห็นชอบกับการตั้งสำรองเพิ่มตามความจำเป็นที่ ธ.ก.ส.มีอยู่ และเตรียมจะไปเชิญชวนให้สถาบันการเงินอื่นมีการตั้งสำรองเพิ่มจากเกณฑ์มาตรฐานแบบ ธ.ก.ส.บ้าง

“การตั้งสำรองสูงเพื่อเป็นเบาะกันตกกระแทกในอนาคต อีกทั้งยังทำให้ทริสจัดอันดับเรตติ้ง ธ.ก.ส.ไว้ที่ระดับไม่มีความเสี่ยงเลย” นายลักษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลดำเนินงานปีบัญชี 2558 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.23% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนทางด้านหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง และภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจำนวนกว่า 1.28 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 1.67 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้คืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรตามโครงการชำระดีมีคืน เป็นเงิน 2,231 ล้านบาท และได้นำเงินปันผลส่งเป็นรายได้เข้าคลัง 3,595 ล้านบาท ส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 1,665 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.18% ของยอดเงินฝาก ส่งผลให้ ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิ 8,905 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 1.03 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่เพิ่มขึ้น 1.15 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.63% มียอดเงินฝาก 1.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.69 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 6.24%