posttoday

ธปท.เศรษฐกิจไตรมาสแรกแผ่วฉุดน้ำอัดลมชะลอ

29 เมษายน 2559

ธปท.เผยเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตแผ่วลง จากรายได้ครัวเรือนเกษตรและแรงงานภาคอุตสาหกรรมชะลอลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและโอทีลดลง ฉุดยอดขายน้ำอัดลมหด แย้มการเติบโตเศรษฐกิจภาพรวมแนวโน้มดีขึ้น

ธปท.เผยเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตแผ่วลง จากรายได้ครัวเรือนเกษตรและแรงงานภาคอุตสาหกรรมชะลอลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและโอทีลดลง ฉุดยอดขายน้ำอัดลมหด แย้มการเติบโตเศรษฐกิจภาพรวมแนวโน้มดีขึ้น

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐหิจมหาภาค  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แรงส่งของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปีนี้แผ่วลงเล็กน้อย จากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง หลังจากเร่งไปในไตรมาสก่อนจากปัจจัยชั่วคราว บวกกับรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรก็ลดลงจากปัญหาภัยแล้งที่กระทบผลลิต และรายได้ของผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็ลดลง จากชั่วโมงการทำงานหรือรายได้ล่วงเวลา (โอที) ปรับลดลง โดยการบริโภคภาคเอกชนไตรมาสแรกขยายตัวเหลือ 2% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3%

“การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนชะลอลง เช่น น้ำอัดลม ขยายตัวลดลง สะท้อนการระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตร แต่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทุนปรับดีขึ้น เช่น รถกระบะดัดแปลง จักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้ดี มีกำลังซื้อ คาดว่าในไตรมาส 2 น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น” น.ส.พรเพ็ญกล่าว

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าโดยรวมติดลบน้อยลงที่ - 1.4% จากไตรมาสก่อน - 7.9% แต่ส่งออกที่ไม่รวมทองคำ - 5.1% จากไตรมาสก่อน -8.5% ยังลบตัวต่อเนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน และราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันยังลดลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -1.1% จากไตรมาสก่อนโต 0.3% ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำที่ 1.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่โต 2.1% อย่างไรก็ดีการลงทุนยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงานทดแทนและโทรคมนาคมที่รองรับ 4 จี

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงนี้ ในภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปีนี้ เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าบวกแผ่วลง เป็นไปตามที่ธปท.เคยคาดไว้ ส่วนจีดีพีเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนถือว่าจีดีพีบวกดีขึ้น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาทรงตัวจากเดือนก่อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกถ่วงจากการใช้จ่ายของครัวเรือนที่รายได้เกษตรที่ลดลง