posttoday

ธนาคารตุนสภาพคล่องสูงถึง167%

26 เมษายน 2559

ธปท.เผยแบงก์สำรองสภาพคล่อง 2 เดือนแรก สูงกว่าเกณฑ์ 1.5 ล้านล้าน กสิกรฯ ชี้สินเชื่อ มี.ค.ยังหดตัว

ธปท.เผยแบงก์สำรองสภาพคล่อง 2 เดือนแรก สูงกว่าเกณฑ์ 1.5 ล้านล้าน กสิกรฯ ชี้สินเชื่อ มี.ค.ยังหดตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ตามเกณฑ์บาเซิล 3 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่สามารถดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด สะท้อนความมีเสถียรภาพของระบบ โดยล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 2559 มีการประมาณการกระแสเงินสดที่คาดว่าจะไหลออกสุทธิภายใน 30 วันตามเกณฑ์ไว้ที่ 2.09 ล้านล้านบาท แต่ระบบธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 3.51 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.42 ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนการสำรอง 167.38%

ทั้งนี้ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว แยกเป็นระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มียอดคงค้างการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องรวม  3.13 ล้านล้านบาท ขณะที่ประมาณการ กระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในระยะเวลา 30 วันอยู่ที่ 1.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสำรอง 166.05% และระบบธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ มียอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องรวม 3.80 แสนล้านบาท และยอดประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในระยะเวลา 30 วัน อยู่ที่ 2.12 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการสำรอง 179.21%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า  เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง 2.34 หมื่นล้านบาท หรือ ลบ 0.44% จากเดือนก่อนหน้า ทำให้มียอดคงค้างสินเชื่อ 10.4 ล้านล้าน บาท เพิ่มขึ้น 2.65% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากการหดตัวของสินเชื่อกลุ่มธนาคารขนาดกลางและใหญ่ จากการชำระสินเชื่อคืน โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อเช่าซื้อ

สำหรับเงินฝากยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มียอดคงค้าง 11.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.07 แสนล้านบาท จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 1.26% จากช่วงเดียวกันปี ก่อน เป็นการเพิ่มในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ไหลเข้าเงินฝาก กระแสรายวันและออมทรัพย์เพื่อพัก เงิน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ เพื่อ เตรียมจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์และการโยกย้าย เงินในช่วงปิดบัญชีเดือน มี.ค. ของกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ชะลอตัวทำให้สภาพคล่องเดือน มี.ค.ผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมอยู่ที่ระดับ 89.71% เทียบกับ 90.59% ในเดือน ก.พ. ขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง ต่อสินทรัพย์รวม เพิ่มเป็น 21.35% จาก 20.34% ในเดือน ก.พ