posttoday

กรมศุลหืดจับรายได้วูบหนัก

15 เมษายน 2559

“กรมศุลฯ” จับตาพิษเศรษฐกิจ ฉุดรายได้วูบกว่าคาด หลังหืดจับลดภาษีรายได้หดแล้ว 4,000 ล้าน

“กรมศุลฯ” จับตาพิษเศรษฐกิจ ฉุดรายได้วูบกว่าคาด หลังหืดจับลดภาษีรายได้หดแล้ว 4,000 ล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้ปรับลดเป้าหมายนำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลังของปีงบประมาณ 2559 ลงจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 1.2 แสนล้านบาท เหลือ 1.16 แสนล้านบาท หรือลดลง 4,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าการเข้าสู่การปรับโครงการกรมศุลกากร ระยะที่ 2 ที่มีการปรับปรุงอากรขาเข้าสินค้าอีกกว่า 1,000 รายการ จะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ประกอบกับช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ของกรมศุลกากรลดลงตามสินค้าที่มีการนำเข้าลดลง อย่างเช่น รถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ

“การปรับโครงสร้างภาษี ระยะที่ 2 ที่จะมีการปรับลดอากร ได้มีการประเมินว่ารายได้ภาษีหายไปแน่ๆ 4,000 ล้านบาท แต่ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ เชื่อว่าจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะกระทบวงเงินเท่าไร และผลการจัดเก็บรายได้จะหลุดจากเป้าที่ขอปรับลดมาอยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาท หรือไม่ ตรงนี้ต้องรอดู และจะขอทำให้ดีที่สุด โดยขณะนี้กรมศุลกากรพยายามพัฒนาระบบเพื่ออุดรอยรั่วเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายกุลิศ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 2558-ก.พ. 2559) กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้รวม 4.83 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,548 ล้านบาท หรือ 3.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว

สำหรับยอดจัดเก็บรายได้ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.พ.อยู่ที่ 8,395 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,005 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ที่ 9,400 ล้านบาท และต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 808 ล้านบาท หรือจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 9,203 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการจัดเก็บอากรนำเข้าสูงในเดือน ก.พ. 2559 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ มียอดการจัดเก็บอากรกว่า 1,355 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ม.ค.ที่มียอดอากรนำเข้า 1,680 ล้านบาท เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มียอดอากรนำเข้าเดือน ก.พ.อยู่ที่ 849 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่มีอากรนำเข้า 857 ล้านบาท เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบ มียอดอาการนำเข้าในเดือน ก.พ.อยู่ที่ 671 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ม.ค.ที่มียอดอากรนำเข้าอยู่ที่ 686 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าของไทยลดลงตลอด 2 เดือนแรกของปีนี้ โดยเดือน ม.ค.มีมูลค่า 12,924 ล้านบาท ลดลง 17.8% และเดือน ก.พ.มีมูลค่า 12,142 ล้านบาท ลดลง 16.3% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามภาวะการส่งออกที่ยังไม่ดี และราคาน้ำมันดิบและโลหะในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่ยังหดตัวตามการลงทุนที่ยังซบเซา