posttoday

ชงใช้ทุนสำรองซื้อหุ้น

23 มีนาคม 2559

ครม.ไฟเขียว ธปท.นำเงินทุนสำรองประเทศ วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในหุ้นได้

ครม.ไฟเขียว ธปท.นำเงินทุนสำรองประเทศ วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในหุ้นได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนของบัญชี ธปท.ไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนหรือหุ้นในต่างประเทศได้ เพื่อเพิ่มเครื่องมือและความคล่องตัวในการบริหารทุนสำรองให้สอดคล้องกับความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนโลก

ปัจจุบัน ธปท.มีวงเงินในบัญชีกิจการธนาคาร หรือบัญชีของ ธปท.ให้บริหารอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ถือลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ตราสารอนุพันธ์ในต่างประเทศและทองคำได้ แต่ถึงกฎหมายใหม่จะแก้ไขให้ลงทุนในหุ้นได้ ก็ต้องเป็นหุ้นในต่างประเทศ ไม่สามารถลงทุนตลาดหุ้นของไทยได้ และโดยขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อผ่าน ครม.แล้ว ต่อไปต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยการเสนอขอแก้ไขดังกล่าวนี้ ธปท.เคยมีการเสนอมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2558 ที่ผ่านมาแล้ว แต่เพิ่งมาผ่านในรอบนี้

“การแก้ไขครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินตรา แต่อย่างใด เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงไปในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายขึ้น โดยยังให้ความสำคัญกับสภาพคล่องที่ต้องมีเพียงพอ พร้อมที่จะนำไปใช้ได้ตลอดเวลา เพื่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปลุยหุ้นแน่นอน” นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่การนำเงินทุนสำรองไปตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่มุ่งหาผลตอบแทนสูงแน่นอน  หลักการบริหารทุนสำรองที่สามารถลงทุนในหุ้นได้ ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว ธนาคารกลางของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซีย จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิสราเอล สิงคโปร์ ก็ทำอยู่

“การเริ่มนำทุนสำรองไปลงทุนในหุ้นคงทำในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจจะประมาณ 3-4% ของทุนสำรองทั้งหมด และ ธปท.คงค่อยๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาก เพราะวัตถุประสงค์หลักการแก้ไขเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารความเสี่ยง ที่ควรมีการกระจายพอร์ตไปในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารสภาพคล่อง” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว 

นายวิรไท กล่าวว่า ในการลงทุนในหุ้นรายตัวที่จะไปลงทุนมีการดูอย่างไรนั้น ต้องดูความมั่นคงยั่งยืน เพราะหุ้นแต่ละตัวมีความเสี่ยงต่างกัน สมมติถ้าลงทุนอิงดัชนีที่เป็นหุ้นปันผล ก็แสดงว่าผลประกอบการดีต่อเนื่องอยู่ในตะกร้าที่เป็นดัชนีได้ ซึ่งการดูรายละเอียดตรงนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ธปท. และคณะอนุกรรมการที่ดูแลด้านนี้ก่อน ขอย้ำว่าการแก้ไขให้ลงทุนในหุ้นได้ มีหลักสำคัญอยู่ที่การกระจายพอร์ตให้เหมาะสม เพื่อให้มีเครื่องมือที่ครบถ้วนในการบริหารความเสี่ยง การจะลงทุนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องได้ผลตอบแทนเท่าไหร่

นายอัมพร แสงมณี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า ปกติการนำทุนสำรองไปลงทุน ความเสี่ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนหุ้นได้ทำให้โครงสร้างการลงทุนกระจายตัวดีขึ้น ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นในภาวะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำ ผลตอบแทนหุ้นที่ได้จะสูงกว่าพันธบัตร แต่ที่ ธปท.ทำสัดส่วนการลงทุนหุ้นไม่สูง ฉะนั้นการแบ่งไปลงทุนหุ้นได้จึงช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่า

ขณะที่นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การเปิดช่องให้เอาเงินทุนสำรองไปลงทุนหุ้นได้ ถึงจะเริ่มจากวงเงินน้อยๆ 3-4% ใครจะรับประกันว่าในอนาคตจะลงทุนเพิ่มหรือไม่ ที่สำคัญคือ ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะมารับประกันว่าเงินทุนสำรองจะไม่เสียหายจากการไปลงทุนหุ้น โดยหลักการการมีไว้ซึ่งทุนสำรอง เพื่อให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอในการป้องกันเงินทุนไหลออก และดูแลแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน สร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ได้เน้นที่จะหาผลตอบแทน ส่วนตัวจึงมองว่าการเปิดช่องของกฎหมายให้ทำได้เช่นนี้น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร