posttoday

ควัก4หมื่นล.ทำบ้านประชารัฐ

26 กุมภาพันธ์ 2559

ชง ครม.เคาะบ้านประชารัฐ "ออมสิน-ธอส." ควัก 4 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คลังเสนอครม.1มี.ค.นี้

ชง ครม.เคาะบ้านประชารัฐ "ออมสิน-ธอส." ควัก 4 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท  คลังเสนอครม.1มี.ค.นี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอแพ็กเกจในโครงการปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์ (บ้านประชารัฐ) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 มี.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อยต้องการมีบ้าน ในอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ในราคาบ้านไม่เกิน 7 แสนบาท กับบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในส่วนของอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความต้องการสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยในราคาบ้านหลังละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยจะร่วมกับ ธอส.และธนาคารกรุงไทยในการให้สินเชื่อโครงการ

นายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการ ผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า วงเงินเบื้องต้นที่จะปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการซื้อบ้านประชารัฐ มีจำนวน 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจาก ธอส. 2 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสิน 2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เป็นเวลา 3 ปี ในราคาประมาณ 5-7 แสนบาท/ยูนิต หากกรมธนารักษ์สามารถพัฒนาพื้นที่และผู้ประกอบการเอกชนพัฒนาได้เร็ว ก็สามารถขยายวงเงิน เพิ่มอีกได้

ทั้งนี้ ธอส.พร้อมให้วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการเอกชน หรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ที่ต้องการจะสร้างบ้าน เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ส่วนผู้กู้รายย่อยซึ่งมีรายได้น้อย เป็นดอกเบี้ยผ่อนปรนเช่นกัน โดยปกติราคาที่ 5-7 แสนบาท/ยูนิต จะผ่อน 3,500-3,600 บาท แต่ถ้าเป็นแพ็กเกจนี้จะผ่อนเดือนละ 2,200-2,400 บาท ให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้าน และลดการผ่อนชำระ โดยกระทรวงการคลังต้องกำหนดเกณฑ์เพื่อคัดกรองผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เพราะจำนวนยูนิตไม่เพียงพอรองรับทุกคน แต่ ธอส.ได้พัฒนาระบบไว้หมดแล้ว พร้อมเปิดลงทะเบียนหาก ครม.เห็นชอบก็จะประกาศเกณฑ์ คุณสมบัติ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ และตรวจสอบการให้สินเชื่อบ้านหลังแรกว่าจะให้สิทธิก่อนหรือไม่

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ในช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ จะเรียกประชุมกับผู้ประกอบการเอกชนเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาบนที่ราชพัสดุ หากสามารถสรุปได้ก็สามารถลงนามเริ่มโครงการได้เลย โดยระหว่างนี้ได้ให้ภาคเอกชนส่งแบบการก่อสร้าง เพื่อคิดคำนวณต้นทุน จากที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์คัดเลือกมา 6 แปลง ที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ จากทั้งหมด 76 แปลง 5,000 กว่าไร่ โดยรูปแบบเดิมเป็นการเช่ายาวกับขายขาด แต่มีการเพิ่มเติมมาคือ ทำเป็นโครงการแล้วให้ผู้มี รายได้น้อยเช่า