posttoday

มาตรการรัฐหนุนสินเชื่อขยับ

02 มกราคม 2559

ธปท.เผยสินเชื่อ พ.ย. โตต่อเนื่อง ได้อานิสงส์มาตรการรัฐ ทั้งเอสเอ็มอีและอสังหาฯ

ธปท.เผยสินเชื่อ พ.ย. โตต่อเนื่อง ได้อานิสงส์มาตรการรัฐ ทั้งเอสเอ็มอีและอสังหาฯ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดการให้สินเชื่อของภาคสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2558 พบว่า มียอดคงค้างสินเชื่อ 16.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2558 ที่มียอดคงค้าง 15.83 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่มียอดคงค้าง 15.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.3% เดือน ก.ค.อยู่ที่ 15.67 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.3% เดือน ส.ค.อยู่ที่ 15.74 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.2% เดือน ก.ย.อยู่ที่ 15.83 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.7% กระทั่งมาถึงเดือน ต.ค.และเดือน พ.ย.สินเชื่อยังโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย.ปริมาณการระดมทุนของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจผลิตไฟฟ้า และการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยธุรกิจในกลุ่มสื่อสารบางรายออกหุ้นกู้เพื่อนำไปชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกของคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลได้ ขณะที่ธุรกิจในภาคการผลิตก็ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อนำเงินไปทดแทนการกู้ยืมจากสถาบัน การเงิน

สำหรับสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี มีอัตราเร่งขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน จากสินเชื่อในภาคการผลิต การค้า และการขนส่ง เป็นหลัก คาดว่าเป็นผลจากมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนของภาครัฐ ขณะที่สินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ภาคครัวเรือนก็ขยายตัวจากเดือนก่อน ตาม สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปี 2559 เช่นเดียวกับ สินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆ ก็มีสัญญาณดีขึ้นตามการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นด้วย

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่แน่ว่าจะมีผลทำให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในปี 2559 เพิ่มขึ้น ได้หรือไม่ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อขยายตัวได้ในระดับที่ดี 6-7% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ