posttoday

กสิกรฯ เปิดพื้นที่คนไอที สร้างนวัตกรรมการเงิน

10 ธันวาคม 2558

เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมตลาดทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่างปรับโครงสร้างภายในรองรับพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

โดย...วารุณี อินวันนา

เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังรุกเข้าสู่เอเชีย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่างปรับโครงสร้างภายในรองรับพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งต้องมีการศึกษาหานวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับการให้บริการที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้จัดตั้งกลุ่มบริษัทจัดการเทคโนโยลีสารสนเทศ (ไอที) ขึ้นมาเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่ง เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยธนาคารกสิกรไทยได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้มีการลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อย 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กสิกร เทคโนโลยี กรุ๊ป เซเครเทเรียต ทำหน้าที่วางแผน ติดตาม และให้การสนับสนุนการทำงานของกลุ่มบริษัทจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสิกร แล็บส์ ทำหน้าที่ค้นคว้าเทคโนโลยีและรูปแบบในการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ บริษัท กสิกร ซอฟต์ ทำหน้าที่ออกแบบและสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสิกร โปร ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

สมคิด จิรานันตรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานระบบธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัทใหม่ด้านไอทีนี้จะมีสถานที่ ทำงาน มีตึกที่เป็นของตัวเอง มีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะกับคนไอทีโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถใช้ความรู้ด้านไอทีเต็มที่ในการคิดค้น ทดลอง นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาใช้ในธุรกิจการเงินและธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ การเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล ทำให้บุคลากรคนไอทีต้องเปลี่ยนแนวความคิดในการทำงาน จากเดิมที่มีหน้าที่ออกแบบโปรแกรม สนับสนุนการทำงานของหน่วยธุรกิจอื่นๆ แต่วันนี้คนไอทีต้องสามารถสร้างคุณค่าให้องค์กร และทำระบบมาวัดผล และวัดคุณค่า ธุรกิจแต่ละประเภท และวัดความสามารถของคนให้ได้ จึงต้องรู้ว่าธุรกิจต้องการอะไร และลูกค้าต้องการอะไร เพราะจะต้องนำมาพัฒนาระบบให้สนองความต้องการของทั้งสองกลุ่ม

นอกจากนี้ การทำงานต้องสามารถให้แน่ใจว่าระบบที่พัฒนาขึ้นจะเติบโตได้ตามขนาดของธุรกิจ เช่น สามารถติดตั้งระบบนี้ในเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้ และทำงานได้ในหลายระบบบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้งานสามารถทำต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ใช้แล้วไม่ล่ม

“การล่มของระบบแค่ 2-3 ชั่วโมง มีคนเดือดร้อนจำนวนมาก เพราะวันนี้องค์กรต่างๆ ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก จึงไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้าของธนาคารเท่านั้นที่เดือดร้อน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องสามารถแก้ปัญหาให้ใช้บริการได้ไม่สะดุด” สมคิด กล่าว

ทั้งนี้ สมคิด มองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อตัวแบบธุรกิจ หรือ Business Model สูงมาก องค์กรใดที่นำมาใช้ได้ดี และนำมาประยุกต์ใช้ได้ จะทำให้เกิดความแตกต่างกลายเป็นส่วนธุรกิจที่สำคัญในโลกยุคใหม่ ที่ต้องสามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วด้านการตามพฤติกรรมของผู้บริโภค สามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้เร็ว และนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้ลดต้นทุนทางธุรกิจได้มหาศาลเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

สมคิด ยกตัวอย่างการทำธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟนที่มีต้นทุนต่ำกว่าธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่านสาขาถึง 200 เท่า แต่ขณะเดียวกันบุคลากรก็ยังมีความจำเป็นอันดับ 1 สำหรับองค์กร เพราะเป็นผู้นำระบบใหม่ๆ ที่ได้มาใช้ในการทำงานและแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นในการจะคิดค้นนวัตกรรมอะไรก็ตาม จะต้องคิดด้วยว่าคนต้องใช้เป็นและแก้ปัญหาได้

ทั้งนี้ เพื่อให้บริการได้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปมากและอนาคตจะยิ่งก้าวไปอีกไกล การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนหายไป การใช้เงินสดน้อยลง หันมาใช้เงินจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หรือการอ่านหนังสือก็มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่

นอกจากระบบไอทีจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและทำให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้นแล้ว คนไอทียังต้องบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีด้วย เช่น การโจมตีระบบการทำงานของธนาคาร การโจรกรรมข้อมูลลูกค้า

ยกตัวอย่าง ล่าสุด 5 ธนาคารพาณิชย์ได้รับอีเมลว่าจะเข้าโจมตีระบบการทำงานของธนาคาร แล้วเรียกค่าไถ่เป็นเงินสกุลบิตคอยน์ ที่ใช้กันในโลกดิจิทัล แต่ทั้ง 5 ธนาคารไม่ยอม และได้ร่วมมือกับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ทด้า ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้ตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาหารือกันระหว่าง 5 ธนาคารและเอ็ทด้า ทำให้สามารถแก้ปัญหาผ่านไปได้ ซึ่งเหตุการณ์ในรูปแบบนี้จะมีตามมากลายเป็นความเสี่ยงด้านไอที

สมคิด สรุปว่า การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในธุรกิจยุคดิจิทัล มาจากจินตนาการที่ต้องการให้การใช้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นเป็นหลัก ขณะนี้เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ จากต้นทุนที่ลดลง โอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจะตามมาเองในภายหลัง