posttoday

แบงก์แห่เช็กบูโรลูกหนี้ถี่ยิบ

19 สิงหาคม 2558

เครดิตบูโรเผยธนาคารแห่เช็กประวัติลูกหนี้เก่าถี่ยิบ ห่วงเด็กรุ่นใหม่เป็นหนี้มากขึ้น

เครดิตบูโรเผยธนาคารแห่เช็กประวัติลูกหนี้เก่าถี่ยิบ ห่วงเด็กรุ่นใหม่เป็นหนี้มากขึ้น

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้ามาตรวจบัญชีสินเชื่อลูกค้าเก่าถี่มากขึ้น เพื่อทบทวนการให้สินเชื่อหรือบริหารความเสี่ยง โดยในช่วงครึ่ง

ปีแรกนี้มีการเข้ามาตรวจสอบบัญชีประมาณ 14.65 ล้านบัญชี และคาดว่าทั้งปีจะเพิ่มเป็น 32 ล้านบัญชี ซึ่งธนาคารบางแห่งได้ตรวจสอบสถานะประวัติการชำระเงินของลูกค้าถี่มากขึ้น จากเดิมที่ดูปีละ ครั้งก็เปลี่ยนเป็นทุกๆ ไตรมาส เพื่อควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อลูกค้า

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อพิจารณาสินเชื่อใหม่เริ่มมีแนวโน้มลดลงจาก 1-2 ปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 14 ล้านบัญชี โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 12 ล้านบัญชี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินระมัดระวังและเข้มงวดการให้สินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าธนาคารของรัฐมีการเข้ามาตรวจสอบสถานะหรือดูข้อมูลเครดิตบูโรเพื่อประเมินสถานะการเงินของลูกค้าน้อยมาก เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์)

นายสุรพล กล่าวด้วยว่า ในแต่ละปีจะมียอดการเปิดบัตรเครดิตใหม่ประมาณ 4.5 แสนบัตร ซึ่งพบว่ากลุ่มลูกค้าที่ทำบัตรเครดิตใหม่มีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนรุ่นเจนวาย (อายุ 18-35 ปี) เพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 มีกลุ่มเจนวายประมาณ 34% ของจำนวนบัตรใหม่ ซึ่งตัวเลขนี้ได้ขยับขึ้นเป็น 44% ในปี 2556 และ 47% ในปี 2557 จนมาแตะที่ 49% เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งน่าเป็นห่วงว่ากลุ่มเจนวายเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน ถ้าไม่ระมัดระวังการใช้เงินจะมีปัญหา ในขณะเดียวกันกลุ่มที่มียอดการชำระหนี้มากที่สุดจะเป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์ (อายุ 36-50 ปี) เพราะเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้หลายส่วน

ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนก็เริ่มเห็นสัญญาณน่ากังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ยอดค้างหนี้งวดแรก (ค้างชำระหนี้ 31-90 วัน) เริ่มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.6% ของจำนวนบัญชีสินเชื่อทั้งหมด ส่วนยอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.9% ของบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตอยู่ที่ 4.5% ของบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งหมดและเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 8.2% ของบัญชีสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งดูเป็นแนวโน้มลดลง เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีนโยบายขาย เอ็นพีแอลให้บริษัทติดตามหนี้และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เมื่อลูกหนี้ค้างชำระเกิน 180 วัน