posttoday

สรรพากรสายไหม้!สับสนเกณฑ์ใหม่LTF-RMF

09 กรกฎาคม 2558

การเพิ่มเกณฑการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้อแอลทีเอฟ-อาร์เอ็มเอฟสร้างความสับสนอย่างมาก

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

กรมสรรพากรเตรียมออกประกาศเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) หลังจากประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 สร้างความสับสนอย่างมากต่อผู้สนใจลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการขอลดหย่อนภาษีและมีการโทรศัพท์สอบถามคอลเซ็นเตอร์ของกรมนับร้อยสาย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 257-259 กำหนดให้การซื้อหน่วยลงทุนแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ จะได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้เงื่อนไขว่าต้องซื้อแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟไม่เกิน 15% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” จากเดิมกำหนดไว้ 15% ของ “เงินได้พึงประเมิน” ในปีภาษีนั้น โดยคงเงื่อนไขเดิม คือเฉพาะส่วนไม่เกิน 5 แสนบาท

ข้อความในประกาศดังกล่าว ทำให้มีการสอบถามกรมสรรพากรเพื่อความชัดเจนว่า เงินได้ที่ต้องเสียภาษี หมายถึงเงินได้ส่วนใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ชี้แจงว่า หมายถึงรายได้ทุกอย่างที่ต้องเสียภาษี แต่หากเป็นรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีจะนำมารวมในรายได้เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟเพื่อขอลดหย่อนภาษีไม่ได้ เช่น เงินรางวัลจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินได้จากการรับมรดก 100 ล้านบาทแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี รวมทั้งเงินได้จากการขายแอลทีเอฟเมื่อครบกำหนด 5 ปี แต่หากมีการขายแอลทีเอฟก่อนกำหนดและเสียค่าปรับภาษีแล้ว สามารถนำมาคำนวณได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความสับสนที่เกิดขึ้นทำให้กรมสรรพากรเตรียมออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อลงลึกรายละเอียดประเภทเงินได้ที่ผู้เสียภาษีสามารถนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณการซื้อแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอีกครั้ง

ด้าน ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนอาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีภาษีนั้น เฉพาะที่ไม่เกิน 5 แสนบาท เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป และให้ผู้มีเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่แบ่ง

ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่สนใจลงทุนในอาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ ที่มักจะโทรเข้ามาสอบถามคอลเซ็นเตอร์ของกรมสรรพากรจำนวนมากว่า 15% ของเงินได้สูงสุดที่ใช้ซื้อหน่วยลงทุนนั้นคำนวณจากอะไร จึงได้ออกประกาศให้ใช้ฐานของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งหมายถึงเงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้เป็นลักษณะเหมาจ่าย  เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เบี้ยประชุม

รวมถึงเงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น หมอ นักบัญชี นักกฎหมาย สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่ายและตามที่จ่ายจริง  เงินได้จากการรับเหมา (มีการเตรียมจัดหาสัมภาระในการก่อสร้างเอง) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้ จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่ายและตามที่จ่ายจริง และเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตรกรรม หรืออื่นๆ เป็นต้น