posttoday

กรมบังคับคดีแนะกยศ. คลายปมไกล่เกลี่ยลูกหนี้

16 มีนาคม 2558

การไกล่เกลี่ยหนี้จะช่วยให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ติดเครดิตบูโร ทำให้ลูกหนี้สามารถลืมตาอ้าปาก

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

กรมบังคับคดียุค รื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นอธิบดี ทำนโยบายเชิงรุกอย่างมากในการจับคู่ไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเฉพาะหนี้รายย่อยที่ถูกศาลพิพากษาบังคับคดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) บริษัท บัตรเครดิตกรุงไทย หรือเคทีซี รวมไปถึงลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

จนถึงเวลานี้ เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว กรมบังคับคดีสามารถจัดไกล่เกลี่ยรายย่อยได้สำเร็จถึง 800 กว่าราย คิดเป็น 90% ของมูลหนี้ที่มีการไกล่เกลี่ย แต่แม้กระนั้นก็ยังมีลูกหนี้รายย่อยบางกลุ่มที่กรมบังคับคดีเห็นว่าหากมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคแล้ว ทั้งในเรื่องของฐานข้อมูลลูกหนี้และการสร้างแรงจูงใจให้มาไกล่เกลี่ยหนี้ จะทำให้การไกล่เกลี่ยหนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

รื่นวดี บอกว่า จากการประเมินผลเบื้องต้นพบว่า ฐานข้อมูลลูกหนี้ของ กยศ. ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ลูกหนี้ กยศ.ที่มีการออกจดหมายเชิญไป 1,500 ราย มาร่วมไกล่เกลี้ยหนี้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาก็จะมีที่อยู่แห่งหนึ่ง เมื่อเรียนจบ มีงานทำ หรือกลับบ้านเกิด ที่อยู่ก็จะเปลี่่ยนไปจากที่เคยแจ้ง กยศ.เพื่อขอกู้เงิน

นอกจากนี้ ลูกหนี้ กยศ.กลุ่มวอล์กอิน (Walk In) คือกลุ่มที่ไม่ได้ออกจดหมายเชิญ แต่สมัครใจมาไกล่เกลี่ยเอง เพราะทราบข่าวจากการประชาสัมพันธ์ แต่ปรากฏว่าทาง กยศ.ไม่มีการเตรียมข้อมูลมา ทำให้ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหนี้ได้ ลูกหนี้จึงเสียโอกาสในการเจรจาชำระหนี้ กยศ.เองก็เสียโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน

ขณะเดียวกัน อยากเสนอให้คณะกรรมการ กยศ. เพิ่มแรงจูงใจในการชำระหนี้ เช่น การลดดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น เพราะลูกหนี้ กยศ.ส่วนใหญ่เพิ่งเรียนจบและเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ทำให้มีรายได้ไม่มาก รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นอยู่ ไม่สามารถชำระหนี้เงินต้นทุนสูงๆ ได้ ซึ่งหาก กยศ.มีการปรับปรุงฐานข้อมูลและเพิ่มแรงจูงใจแล้ว เชื่อว่าจะมีลูกหนี้ กยศ.มาขอชำระหนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบกับเอสเอ็มอีแบงก์ หรือบัตรเคทีซี จะพบว่ามีความแตกต่างจากการไกล่เกลี่ยหนี้ของ กยศ. เพราะเจ้าหน้าที่ของเอสเอ็มอีแบงก์และบัตรเคทีซีจะมีฐานข้อมูลที่พร้อมจะเจรจากับลูกหนี้ ทั้งในส่วนที่ออกจดหมายเชิญไป หรือที่สมัครใจมาเอง รวมทั้งมีการลด แลก แจก แถม ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแบงก์ที่มีการไกล่เกลี่ยหนี้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนสำเร็จและมีการชำระหนี้ได้ถึง 500 ล้านบาท จากเดิมที่กลุ่มหนี้แทบจะกลายเป็นหนี้สูญ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยอื่นๆ ทั่วประเทศได้รับทราบข่าวและมาร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เพิ่มขึ้น กรมบังคับคดีอาจจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ศูนย์ดำรงธรรมที่มีเครือข่ายทั่วประเทศเป็นช่องทางในการแจ้งข่าวไปยังประชาชนตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มาเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้มากขึ้น

รื่นวดี ระบุว่า การไกล่เกลี่ยหนี้ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น เหมาะสำหรับลูกหนี้รายย่อยหรือหนี้ครัวเรือนมากกว่าลูกหนี้รายใหญ่ เพราะในระดับลูกหนี้รายย่อยนั้น การไกล่เกลี่ยจะทำให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถหาข้อยุติการชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เพราะเจ้าหนี้เองแม้จะมีคำพิพากษาบังคับคดีจากศาลและได้รับทรัพย์มา แต่ก็ต้องใช้เวลาในการขายทอดตลาดเพื่อให้เงินกลับมา แต่หากมีการไกล่เกลี่ยหนี้ได้ข้อยุติ เจ้าหนี้ก็จะได้เม็ดเงินคืนเร็วกว่า

ในด้านลูกหนี้เอง การไกล่เกลี่ยหนี้จะช่วยให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ติดเครดิตบูโร แม้จะต้องใช้เวลาตามหลักเกณฑ์ที่เครดิตบูโรกำหนดก็ตาม ทำให้ลูกหนี้สามารถลืมตาอ้าปาก ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย อีกทั้งมีศักยภาพและมีความมั่นใจในการดำรงชีพที่ดีต่อไปได้