posttoday

ลูกหนี้6แสนรายเฮ!พ้นแบล็กลิสต์

06 กันยายน 2557

มติคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบัตรเครดิต เห็นชอบให้ลบประวัติลูกหนี้เอ็นพีแอล ออกจากเครดิตบูโร จำนวน 6 แสนราย

มติคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบัตรเครดิต เห็นชอบให้ลบประวัติลูกหนี้เอ็นพีแอล ออกจากเครดิตบูโร จำนวน 6 แสนราย

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อมูลลูกหนี้ในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ส่งผลให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินต่างๆ จำนวน 6 แสนราย จะถูกล้างประวัติ หรือพ้นจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ในข้อมูลของเครดิตบูโร โดยจะมีผลตั้งแต่หลักเกณฑ์ใหม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ การล้างประวัติดังกล่าวเป็นผลจากการปรับหลักเกณฑ์จากปัจจุบันที่สมาชิกเครดิตบูโรจะต้องส่งข้อมูลลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือลูกหนี้เอ็นพีแอล ให้เครดิตบูโรจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนเสร็จสิ้น โดยเปลี่ยนใหม่เป็นให้สมาชิกส่งข้อมูลลูกหนี้เอ็นพีแอลเป็นเวลาเพียง 5 ปี และให้เครดิตบูโรแสดงข้อมูลลูกหนี้เหล่านี้ต่ออีก 3 ปี รวมแล้วลูกหนี้กลุ่มนี้จะปรากฏในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร 8 ปี และนับจากนี้เป็นต้นไป ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลและปรากฏข้อมูลในเครดิตบูโรครบ 8 ปี จะถูกล้างประวัติเช่นกัน

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เปิดเผยว่า ลูกหนี้ 6 แสนรายที่ได้รับการล้างประวัติครั้งนี้ เป็นลูกหนี้ที่เกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเป็นลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ต่ำ โดยส่วนใหญ่ 95% เป็นลูกหนี้รายย่อย อีก 5% เป็นนิติบุคคลที่มียอดหนี้ไม่สูง ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่มักไม่ฟ้องลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระต่ำกว่า 1 แสนบาท เพราะไม่คุ้มในการดำเนินการ

นายรณดล ระบุว่า การลบประวัติครั้งนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้คนที่เคยติดแบล็กลิสต์แล้วกู้ในระบบไม่ได้ ออกไปกู้นอกระบบลดลง โดยไม่ทำให้วินัยการให้กู้หย่อนยาน หรือมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละธนาคารยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้กู้ตามปกติ และการติดแบล็กลิสต์ถึง 8 ปี ถือว่านานพอสมควร โดยปัจจุบันหนี้เอ็นพีแอลในระบบยังทรงตัวอยู่ที่ 2.3% ของสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ยังออกประกาศให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทสามารถเป็นสมาชิกเครดิตบูโรเพื่อส่งประวัติการชำระหนี้มาที่เครดิตบูโรได้ด้วย จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้ โดยมีการแก้ไขมาตรา 3 (9) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 เพื่อให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวม 8,000 แห่ง มีจำนวนสมาชิกถึง 11 ล้านคน มีคุณสมบัติเข้าเป็นสมาชิกเครดิตได้แล้ว แต่การสมัครให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ

ในขณะที่มีการปลดล็อกลูกหนี้เอ็นพีแอลให้พ้นจากแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโร การปล่อยสินเชื่อบุคคลก็คึกคักขึ้นทันที หลังจากบริษัท ไอร่า แคปปิตอล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อบุคคลภายในปี 2557

โดยบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ทุนจดทะเบียน 43,771 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ 1.68 แสนล้านบาท

นายโยชิทากะ ฟูกุดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า การเข้าร่วมทุนกับบริษัท ไอร่า แคปปิตอล ครั้งนี้ ถือเป็นการขยายธุรกิจในต่างประเทศครั้งแรกของไอฟุล เพราะเห็นว่าตลาดธุรกิจสินเชื่อบุคคลในประเทศไทยยังมีศักยภาพที่เติบโตได้สูงในอนาคต โดยมาตรวัดสำคัญคือรายได้ประชากรของไทยต่อหัวสูงกว่าระดับ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ/ปี และที่ผ่านมาพบว่าประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐ/ปี สินเชื่อบุคคลจะมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต

นอกจากนี้ ประชากรไทยยังมีอายุเฉลี่ยที่ต่ำ รายได้ในอนาคตจึงมีโอกาสเติบโตขึ้นเปรียบกับกลุ่มลูกค้าในญี่ปุ่นที่มีอายุเฉลี่ยที่สูงกว่า นอกจากนี้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลในไทยยังมีการแข่งขันที่ต่ำกว่าในญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาดรวมเพียง 45 ราย ขณะที่ในญี่ปุ่นมีผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อบุคคลมากถึงหลายหมื่นบริษัท

“ธุรกิจสินเชื่อบุคคลไทยมองว่ายังแข่งขันไม่รุนแรง แผนเบื้องต้นในการเข้าทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลในไทยในช่วงแรกจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่นคงก่อน แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะจะเป็นการเตือนให้คู่แข่งรู้ตัว” โยชิทากะ กล่าว